คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7179/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ส่วนการที่จะนำมาใช้ในท้องที่ใด เมื่อใดนั้นก็ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2532 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาได้ระบุให้ใช้เฉพาะในเขตหรืออำเภอเมืองบุรีรัมย์ คูเมือง นางรอง บ้านกรวด ประโคนชัยลำปลายมาศและสตึกเท่านั้น มิได้ระบุให้ใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์คดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ตำบลทองหลางกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ ในอันที่จะต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับด้วย การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเกินกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับโดยมิได้ผัดฟ้องหาได้ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกปัญหาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกำหนดระยะเวลาโดยมิได้มีการผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดขึ้นวินิจฉัยโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4,5, 6, 9, 10, 12, 15 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสาม, 9, 12(1) จำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก3 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน มีกำหนด 1 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม2539 แต่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ซึ่งเกินกำหนด 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับโดยมิได้มีการผัดฟ้อง และเหตุเกิดขึ้นในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 ใช้บังคับครอบคลุมถึงท้องที่กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ส่วนการที่จะนำมาใช้ในท้องที่ใดเมื่อใดนั้นก็ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2532 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาได้ระบุให้ใช้เฉพาะในเขตหรืออำเภอเมืองบุรีรัมย์ คูเมือง นางรอง บ้านกรวด ประโคนชัย ลำปลายมาศและสตึกเท่านั้น มิได้ระบุให้ใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อีกทั้งกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ท้องที่เกิดเหตุคดีนี้ ได้ความจากประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแบ่งเขตท้องที่อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ได้แบ่งท้องที่ของอำเภอพุทไธสง รวม 5 ตำบล ซึ่งรวมทั้งตำบลทองหลางที่เกิดเหตุคดีนี้มาตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ โดยมิได้แบ่งท้องที่ตำบลจากอำเภอหนึ่งอำเภอใดดังที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2532 มาอยู่ในกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ดังนั้น คดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ตำบลทองหลาง กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ที่เกิดเหตุคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 ในอันที่จะต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับด้วย การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเกินกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับโดยมิได้ผัดฟ้องก็ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกปัญหาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายโดยมิได้มีการผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดขึ้นวินิจฉัย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์เรื่องขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยเห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมกระดาษจดเลขสลาก 14 แผ่น กระเป๋าเดินทางผ้าร่มสีดำ 1 ใบ และเงินสด 4,820 บาท จำนวนเงินรับแทงที่ปรากฏในกระดาษจดเลขสลากก็ไม่มาก แสดงว่าจำเลยมิใช่เจ้ามือสลากกินรวบรายใหญ่ จำเลยเพิ่งกระทำความผิดครั้งแรก พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยไว้ดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เพื่อให้มั่นใจว่าจำเลยจะสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้โดยไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงให้กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติให้รัดกุมและยาวนานขึ้น อนึ่งที่ศาลชั้นต้นวางโทษปรับจำเลย 6,000 บาทเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 3,000 บาท นั้น เป็นการลงโทษเกินอัตราขั้นสูงสุดตามพระราชบัญญัติการพนันฯ มาตรา 12(1) ซึ่งให้ปรับได้ไม่เกิน 5,000 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยใหม่เพื่อให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คุมความประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี กับให้จำเลยละเว้นข้องเกี่ยวกับการพนันทุกชนิดหรือประพฤติการใดที่อาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้อีกไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ

Share