คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7173/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกำหนดค่าเสียหายของศาลเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้ขัดต่อกฎหมายหรือเกินความรับผิดตามกฎหมายของฝ่ายนั้น ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พ. และจำเลยต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่กลับกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์รับผิดต่อจำเลย เป็นการไม่ชอบนั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งอำนาจการกำหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 442 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 223 บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร…” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดและค่าเสียหายต่อกันโดยให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ หากต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอกันแล้ว ก็ไม่อาจเรียกค่าเสียหายต่อกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า พ. และจำเลยต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว ค่าเสียหายที่จำเลยจะเรียกร้องจาก พ. ตามฟ้องแย้งย่อมตกเป็นพับ แม้จำเลยจะเสียหายมากกว่าก็ไม่อาจเรียกให้ พ. ชำระค่าเสียหายได้ พ. จึงไม่มีความรับผิดต่อจำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 17,347.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,245.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 62,137.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 16,046.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่านายไพบูลย์ ผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้และจำเลยขับรถเข้าสู่ทางร่วมทางแยกพร้อมกันโดยไม่มีการลดความเร็วลง เหตุรถชนกันจึงเกิดจากความประมาทของทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ถือได้ว่าประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์เสียหายเป็นเงิน 16,245 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดกึ่งหนึ่ง ส่วนจำเลยเสียหายรวมเป็นเงิน 48,337.50 บาท นายไพบูลย์จึงต้องรับผิดกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 24,168.75 บาท เมื่อหักกลบกันแล้วนายไพบูลย์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 16,046.25 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนของฟ้องจึงยุติไป ทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าฝ่ายตนไม่ได้ประมาทอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่านายไพบูลย์และจำเลยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาทำนองว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 442 และ 223 ทั้งไม่ขัดต่อกฎหมาย ข้ออุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า การกำหนดค่าเสียหายของศาลเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้ขัดต่อกฎหมายหรือเกินความรับผิดตามกฎหมายของฝ่ายนั้น ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่านายไพบูลย์และจำเลยต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่กลับกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์รับผิดต่อจำเลย เป็นการไม่ชอบนั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งอำนาจการกำหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์จึงชอบแล้ว ปัญหาว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลยในกรณีที่จำเลยและนายไพบูลย์ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันได้หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 223 บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร…” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดและค่าเสียหายต่อกันโดยให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ หากต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอกันแล้ว ก็ไม่อาจเรียกค่าเสียหายต่อกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่านายไพบูลย์และจำเลยต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว ค่าเสียหายที่จำเลยจะเรียกร้องจากนายไพบูลย์ตามฟ้องแย้งย่อมตกเป็นพับ แม้จำเลยจะเสียหายมากกว่าก็ไม่อาจเรียกให้นายไพบูลย์ชำระค่าเสียหายได้ นายไพบูลย์จึงไม่มีความรับผิดต่อจำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลย จึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share