แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การรับโอนที่ดินโดยการยกให้ไม่มีค่าตอบแทน แม้จะได้แก้ทะเบียนทางเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ก็จะยกขึ้นยันแก่ผู้ที่ได้กรรมสิทธิในที่ดินนั้น โดยทางครอบครองหาได้ไม่
ย่อยาว
ได้ความว่าที่รายพิพาทเป็นของบิดาจำเลยครอบครองตลอดมา เมื่อ ร.ศ.๑๒๗ มารดาโจทก์ได้รับโฉนดตราจอง ที่ของมารดาโจทก์คลุมถึงที่พิพาทนี้ด้วย มารดาโจทก์ได้ถือโฉนดตราจองหาได้เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ ส่วนบิดาจำเลยและจำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ มารดาโจทก์โอนโฉนดให้แก่โจทก์ ๆ ก็มาฟ้องขับไล่จำเลย อ้างว่า บิดามารดาจำเลยขออาศัยอยู่ บัดนี้จำเลยแสดงตนเป็นปรปักษ์จะเอาที่เป็นกรรมสิทธิ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์สืบไม่สมฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า การรับโอนของโจทก์โดยมารดายกให้ และได้แก้ทะเบียนทางเจ้าพนักงานที่ดินแล้วย่อมใช้ได้ จำเลยจะยกสิทธิครอบครองมายันโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕๒๑, ๕๒๕, และ ๑๒๙๙
ศาลฎีกาเห็นว่า ป.พ.พ.มาตรา ๕๒๑, ๕๒๕. เป็นเรื่องความสมบูรณ์ของการให้ตามธรรมดาสามัญ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๖ คือผู้ให้ต้องมีสิทธิยกทรัพย์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนมาตรา ๑๒๙๙ นั้น ห้ามเจ้าของยกขึ้นต่อสู้ ผู้รับโอนโดยเสียค่าตอบแทน คดีนี้โจทก์รับโอนโดยการให้โดนเสน่หา จึงบังคับตามมาตรา ๑๒๙๙ ไม่ได้
พิพากษายืน