คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7168/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ต้องกระทำโดยเสียงข้างมากคือตั้งแต่ 8 คนขึ้นไป แต่หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีมีคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจเพียง7 คน แม้กรรมการมัสยิดโจทก์อีก 1 คนจะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจด้วยแต่ก็เป็นเพียงการลงชื่อในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น หาได้ลงชื่อในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจไม่ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์จึงเป็นการดำเนินงานที่มิได้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามฯ เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและปราศจากอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ2,300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์เรียบร้อยห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ต่อไปอีก

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2540พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ยื่นฟ้องโดยมาตรา 9 บัญญัติว่า ในการดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิด และมีระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 ข้อ 4 ระบุว่า คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจะพึงมีได้แห่งละไม่เกิน 15 คน กอร์ปด้วยอิหม่ามคอเต็บ บิหลั่นเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อิหม่ามเป็นประธานกรรมการคอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มีนายชาตรีแอนดาริส เป็นอิหม่าม นายอาหะหมัด แอนดริส เป็นคอเต็บ นายวิสูตรดอเลาะกองเสล็ม เป็นบิหลั่น และมีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดจากการเลือกตั้งอีก 12 คน คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์จึงมีทั้งหมดรวม 15 คน การดำเนินงานของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์จึงต้องกระทำโดยเสียงข้างมากคือตั้งแต่ 8 คนขึ้นไป แต่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้ มีคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ลงชื่อในฐานะผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เพียง 7 คน ถึงแม้ว่านายกวีศักดิ์แอนดาริส กรรมการมัสยิดโจทก์อีก 1 คน จะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงการลงชื่อไปในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจเท่านั้นนายกวีศักดิ์หาได้ลงชื่อไปในฐานะเป็นผู้มอบอำนาจแต่อย่างใดไม่ หนังสือมอบอำนาจของโจทก์จึงเป็นการดำเนินงานที่มิได้เป็นไปตามเสียงข้างมากของคณะกรรมการมัสยิดโจทก์ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามพ.ศ. 2490 ดังกล่าว เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและปราศจากอำนาจโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้ปัญหานี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์และจำเลยมิได้ฎีกา แต่เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ปัญหาอื่นตามฎีกาโจทก์จึงไม่ต้องวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องในผล”

พิพากษายืน

Share