คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7167-7168/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถสวนทางมาด้วยความเร็วสูงเมื่อเข้าทางโค้งซึ่งเป็นทางโค้งขวาลาดลงเนินเขาจำเลยไม่ได้ชะลอความเร็วและขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์โดยมองไม่เห็นรถที่โจทก์ขับครั้นโผล่ทางโค้งออกมาก็เห็นรถคันที่โจทก์ขับสวนทางมาในระยะกระชั้นชิดจำเลยเกิดความตกใจครั้นจะหักรถออกทางซ้ายก็กลัวว่าจะตกเหวจึงตัดสินใจหักรถออกทางขวาโดยคาดว่าจะหลบพ้นไปยังที่ราบริมถนนแต่หลบไม่พ้นเพราะจำเลยขับรถลงเนินเขาด้วยความเร็วสูงจึงเป็นเหตุให้ชนถูกด้านซ้ายของหัวรถคันที่โจทก์ขับสวนทางมาเช่นนี้ถือได้ว่าเหตุชนกันเกิดเกิดจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว

ย่อยาว

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด นายเที่ยง แสงอำนวยพร เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2529 เวลา 0.15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 0634 ตาก บรรทุกโค 35 ตัวเต็มคันรถจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มุ่งหน้าไปทางอำเภอเมืองตาก ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าว เมื่อถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 43 และ 44 ซึ่งเป็นทางลงเขาลาดชันและโค้งขวา จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงประมาณ 50 ถึง 60กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขับตัดโค้งเข้าไปในช่องเดินรถของรถที่สวนมา แล้วไม่สามารถบังคับรถให้หยุดหรือกลับเข้าสู่ช่องเดินรถของตนได้ จำเลยที่ 1 จึงขับรถปาดหน้ารถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 6735 เชียงใหม่ ซึ่งลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน ล – 0004 เชียงใหม่ บรรทุกคานสะพานคอนกรีตอัดแรง 3 ท่อน ของโจทก์ที่นายรัตน์ บุญมา ขับรถสวนทางมาด้วยความเร็วประมาณ 8 ถึง 9 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างกระชั้นชิดเพื่อลงไปข้างถนนแต่ไม่พ้น เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวชน รถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ตกไปในลำห้วยทางด้านตรงข้ามเสียหาย อันเป็นการขับรถโดยประมาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 310,956 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้น 291,210 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากนายรัตน์ บุญมา ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 6735 เชียงใหม่ ขับรถเข้าไปในช่องเดินรถของรถที่จำเลยที่ 1 ขับมา จำเลยที่ 1 ให้สัญญานเตือนแล้วนายรัตน์ก็ไม่ยอมขับรถเข้าช่องเดินรถของตน จำเลยที่ 1จึงต้องหักรถหลบไปทางขวาเพื่อจะลงไปริมถนนด้านขวา เพราะริมถนนด้านซ้ายเป็นเหวลึก แต่นายรัตน์ได้หักรถกลับไปทางด้านเดียวกัน เป็นเหตุให้รถคันดังกล่าวชนรถที่จำเลยที่ 1ขับ จึงเป็นความประมาทของนายรัตน์ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งห้าต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย โจทก์ที่ 1มอบอำนาจให้นายมนัส พงษ์เกษม ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่16 ธันวาคม 2529 เวลา 0.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 6735 เชียงใหม่ ซึ่งพ่วงด้วยรถพ่วงหมายเลขทะเบียน ล – 0004 เชียงใหม่ บรรทุกคานสะพานคอนกรีตอัดแรงจากจังหวัดตากไปตามถนนสายตาก – แม่สอดมุ่งหน้าไปทางอำเภอแม่สอด ถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 42 และ44 ซึ่งเป็นทางลาดชันขึ้นเขา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถที่สวนมาและไม่ให้สัญญาณขอทางเพื่อแล่นในช่องทางเดินรถดังกล่าว ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 0634 ตากของโจทก์ที่ 2 ซึ่งขับรถสวนมาได้ส่งสัญญาณแจ้งจำเลยที่ 1 ให้ขับรถหลบเข้าช่องเดินรถของตนจำเลยที่ 1 ไม่ยอม ผู้ขับรถของโจทก์ที่ 2 จึงหักรถหลบไปทางขวาเพื่อจะลงไปริมถนนด้านขวาเพราะริมถนนด้านซ้ายเป็นเหวลึกไม่สามารถหลบหลีกไปได้ แต่จำเลยที่ 1 กลับหักรถไปทางด้านเดียวกันอันเป็นการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถของโจทก์ที่ 2 เสียหาย จำเลยที่ 2หมายเลขทะเบียน 80 – 6735 เชียงใหม่ และร่วมกันเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันและแทนกันใช้เงิน 18,275 บาท ให้โจทก์ที่ 1 และใช้เงิน 18,275บาท ให้โจทก์ที่ 1 และใช้เงิน 65,575 บาท ให้โจทก์ที่ 2พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากนายสีมอย วงษ์น้อย ผู้ขับรถของโจทก์ที่ 2 ขับรถด้วยความประมาทและที่ 3 เป็นของเจ้าและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 6735เชียงใหม่ ที่จำเลยที่ 1 ขับในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 6735 เชียงใหม่ ไปจากจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของนายสีมอย วงษ์น้อย ผู้ขับรถของโจทก์ที่ 2โดยนายสีมอย ได้ขับรถคันดังกล่าวพุ่งมาชนรถของจำเลยที่ 3โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องฟ้องจำเลยที่และที่ 5 เพราะในฐานะหุ้นส่วนต้องรับผิดในภาระหนี้ของจำเลยที่ 3 ตามกฎหมายอยู่แล้วขอให้ยกฟ้องระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2และขอให้โอนคดีไปยังศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นยินยอมรับโอนคดี และให้รวมพิจารณาพิพากษากับคดีสำนวนแรก โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 3ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 เรียก จำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกและโจทก์ที่ 2 ในสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 2 และเรียกโจทก์ที่ 1 ในสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 32,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 3 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน80 – 0634 ตาก บรรทุกโค 35 ตัว เต็มคันรถจากอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก เพื่อนำไปส่งที่จังหวัดอุดรธานีโดยมีนายสมจิตร ตาแก้วพนักงานประจำรถกับนายสุรินทร์ นายสนั่น และนายสำราญนั่งมาในรถด้วย จำเลยที่ 1 ขับรถไปตามถนนสายแม่สอด – ตาก เมื่อเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 43 และ 45ซึ่งเป็นทางลงเขาลาดชันและโค้งขวา จำเลยที่ 1 ได้หักรถไปทางขวาซึ่งเป็นช่องเดินรถสวน เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 6735 เชียงใหม่ ลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน ล – 0004 เชียงใหม่ บรรทุกคานสะพานคอนกรีตอัดแรง 3 ท่อน ซึ่งเป็นรถของโจทก์ที่ 1 โดยมีโจทก์ที่ 2ขับสวนทางมา เพื่อจะนำคานสะพานคอนกรีตอัดแรงไปส่งที่บ้านปางส้าน ตำบลแม่ละเมาะ อำเภอแม่สอด จากการชนกันดังกล่าวทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ภายหลังเกิดเหตุร้อยตำรวจโทอำพล วงศ์ใหญ่ ไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา พบเศษกระจกอยู่ในช่องเดินรถของรถคันที่โจทก์ที่ 2 ขับมา คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1ประการแรกว่าการที่รถทั้งสองคันชนกันเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวโดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวได้ความว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2กำลังขับรถขึ้นเนินเขาและเป็นถนนโค้งซ้าย ประกอบกับจำเลยที่ 1ได้เบิกความรับว่า จุดชนอยู่ในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 และนายสมจิตรเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ระหว่างทางนายสุรินทร์ได้เตือนจำเลยที่ 1 ไม่ให้ขับรถเร็ว 7 ถึง8 ครั้ง พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1ขับรถสวนทางมาด้วยความเร็วสูง เมื่อเข้าทางโค้งซึ่งเป็นทางโค้งขวาลาดลงเนินเขา จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชะลอความเร็วและขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 โดยมองไม่เห็นรถที่โจทก์ที่ 2 ขับ ครั้นโผล่ทางโค้งออกมาก็เห็นรถคันที่โจทก์ที่ 2 ขับรถสวนทางมา เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 เห็นรถคันที่โจทก์ที่ 2ขับสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด จำเลยที่ 1 เกิดความตกใจ ครั้นจะหักรถออกทางซ้ายก็กลัวว่าจะตกเหว จึงตัดสินใจหักรถออกทางขวาโดยคาดว่าจะหลบพ้นไปยังที่ราบริมถนนแต่หลบไม่พ้นเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถลงเนินเขาด้วยความเร็วสูงจึงเป็นเหตุให้ชนถูกด้านซ้ายของหัวรถคันโจทก์ที่ 2 ขับสวนทางมา ถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูงและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 เชื่อว่า จำเลยที่ 1 สามารถหยุดรถได้ทันเพราะโจทก์ที่ 2 กำลังขับรถขึ้นเนินเขาและบรรทุกหนักไม่สามารถขับรถเร็วได้ โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 และไม่ได้หักรถกลับมาทางซ้ายก่อนถูกชน แต่เหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน เพราะจำเลยที่ 1 ขับรถลงเนินเขาด้วยความเร็วสูงและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 อันเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 147,210 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 16ธันวาคม 2529) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share