แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 5 บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเรียกค่าขาดไร้อุปการะว่าโจทก์ที่ 5 กับนายโท. เป็นสามีภริยากันและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชาย อ. และเด็กชาย ม. บุตรทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ โจทก์ที่ 5 และบุตรทั้งสองต้องอาศัยรายได้จากนายโท. เป็นเงินเลี้ยงชีพและค่าใช้จ่ายในการศึกษา รวมทั้งค่าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่นนี้ แม้โจทก์ที่ 5 จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าใช้สิทธิฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ก็มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของบุตรทั้งสองด้วย จึงถือได้ว่าโจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีในนามของบุตรทั้งสองโดยปริยายแล้ว
เมื่อนักบินผู้ควบคุมเครื่องบินเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 และความเสียหายเกิดจากเครื่องบินซึ่งเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล กรณีจึงตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยในวินาศภัยอันเกิดจากเที่ยวบินดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายในอนาคตที่บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 ต้องเดินทางไปเคารพศพนายโท. ในสถานที่เกิดเหตุเป็นเวลา 10 ปี ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายอันเนื่องมาจากลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จงใจละเมิดกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานแห่งความปลอดภัย ก็มิใช่ค่าสินไหมทดแทนที่จะเรียกร้องเอากับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443
แม้โจทก์ที่ 5 จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินสกุลมาร์กเยอรมันโดยคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงินสกุลบาทได้
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4256/2540,11384/2540 และ 11385/2540 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
สำหรับคดีนี้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ฐานละเมิดและตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 58,312,930.10 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2535 แต่คดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงที่สุดไปแล้วโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 5 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5เป็นเงิน 90,899,990.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเป็นเงินสกุลมาร์กเยอรมันตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 5
โจทก์ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เครื่องบิน เที่ยวบินที่ ทีจี 311ของจำเลยที่ 1 ได้รับอุบัติเหตุตกเป็นเหตุให้ผู้โดยสารทุกคนรวมทั้งนายโทมัส ฮอปปี้ถึงแก่ความตาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 5 ประการแรกมีว่า โจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นมารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสองอันเกิดจากนายโทมัสเพื่อเรียกเอาค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแทนบุตรทั้งสองด้วยหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 5 ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการเรียกค่าขาดไร้อุปการะว่า โจทก์ที่ 5 กับนายโทมัสเป็นสามีภริยากันและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายแอททิคัส ฮอปปี้ และเด็กชายทิโมเทอุส ฮอปปี้ บุตรทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนโจทก์ที่ 5 เป็นแม่บ้าน โจทก์ที่ 5 และบุตรทั้งสองไม่มีรายได้ใดมีแต่รายจ่าย โจทก์ที่ 5 และบุตรทั้งสองต้องอาศัยรายได้จากนายโทมัสเป็นเงินเลี้ยงชีพและค่าใช้จ่ายในการศึกษาและเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่นนี้ แม้ว่าโจทก์ที่ 5 จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ในฐานะที่โจทก์ที่ 5 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ก็มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของบุตรทั้งสองด้วย จึงถือได้ว่าโจทก์ที่ 5 ฟ้องคดีนี้ในนามของบุตรทั้งสองโดยปริยายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าโจทก์ที่ 5 ไม่ได้ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสองนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 5 ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 5 ที่ว่า บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใดนั้น ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบปรากฏอยู่ในสำนวนแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาและพิพากษาใหม่ สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชอบต่อบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ประกอบกิจการการบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องบินเที่ยวบินที่ ทีจี 311 และเป็นนายจ้างของนักบินตลอดจนพนักงานประจำเครื่องบินเที่ยวบินดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการรับประกันภัยและเป็นผู้รับประกันวินาศภัยเครื่องบินเที่ยวบินที่ ทีจี 311 ดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เครื่องบินเที่ยวบินที่ ทีจี 311 เดินทางออกจากประเทศไทยมุ่งหน้าไปยังประเทศเนปาลและในเวลาบ่ายของวันเดียวกันเครื่องบินเที่ยวบินดังกล่าวได้ชนภูเขาหิมาลัยและตกในเขตเมืองกาฐมาณฑุ ผู้โดยสารทุกคนซึ่งรวมทั้งนายโทมัส ฮอปปี้ ถึงแก่ความตาย ดังนี้ เมื่อฟังได้ว่านักบินผู้ควบคุมเครื่องบินเที่ยวบินดังกล่าวเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และความเสียหายเกิดจากเครื่องบินซึ่งเป็นยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล กรณีจึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ต้องฟังในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง คดีนี้จำเลยทั้งสองอ้างว่าเหตุที่เครื่องบินเที่ยวบินที่ ทีจี 311 ชนภูเขาหิมาลัย แล้วระเบิดตกเกิดจากเหตุสุดวิสัยแต่จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันในวินาศภัยอันเกิดจากเที่ยวบินดังกล่าว ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 เพียงใดนั้น สำหรับราคาทรัพย์สินส่วนตัวของนายโทมัสที่สูญหายไปในคราวเกิดเหตุซึ่งโจทก์ที่ 5 เรียกมาเป็นเงิน 468,015 บาทนั้น โจทก์ที่ 5 เบิกความว่า ทรัพย์สินที่สูญหายไปได้แก่กล้องถ่ายรูปพร้อมอุปกรณ์มีราคาประมาณ 30,000 บาท มาร์กเยอรมัน ฟิล์มถ่ายรูปไม่ทราบจำนวนและราคาเงินสดสกุลใด เป็นเงินเท่าใด ไม่ทราบแน่ชัดแต่เท่าที่เคยเห็นก่อนหน้านี้นายโทมัสมีเงินสดติดตัวประมาณ 2,000 ถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ เสื้อผ้าและกระเป๋าเดินทางไม่ทราบจำนวนและราคา นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ไม่ทราบยี่ห้อและราคา สร้อยคอทองคำ 20 กะรัต 1 เส้น ไม่ทราบน้ำหนักและราคา เห็นว่า โจทก์ที่ 5 ไม่สามารถเบิกความยืนยันว่าทรัพย์สินของนายโทมัส ที่สูญหายไปในที่เกิดเหตุมีจำนวนและราคาที่แท้จริงเพียงใดทั้งโจทก์ที่ 5 เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า โจทก์ที่ 5 คาดคะเนราคากล้องถ่ายรูปเอาเท่านั้น ทางนำสืบของโจทก์ที่ 5 จึงเป็นเพียงแต่ประมาณราคาทรัพย์สินของนายโทมัส แต่เมื่อได้ความว่า นายโทมัสมีอาชีพเป็นช่างถ่ายภาพ เหตุที่นายโทมัสเดินทางไปที่เกิดเหตุก็เพื่อถ่ายภาพนำมาจัดนิทรรศการ เชื่อว่า นายโทมัสต้องมีกล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตัวไปด้วย จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 100,000 บาท สำหรับค่าปลงศพนายโทมัส ซึ่งโจทก์ที่ 5 ขอคิดเป็นเงิน 45,660 บาท และค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 5 และบุตรทั้งสองต้องเดินทางไปเยี่ยมและเคารพศพนายโทมัสที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล รวม 5 ครั้ง คิดเป็นเงิน 1,125,000 บาทนั้น เห็นว่าในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 ได้จัดพิธีการปลงศพนายโทมัสเพียงแต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 5 ว่า โจทก์ที่ 5 ได้จัดพิธีรำลึกถึงการตายของนายโทมัสที่บ้านของโจทก์ที่ 5 เท่านั้นและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีที่บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 เดินทางไปเยี่ยมและเคารพศพนายโทมัสในที่เกิดเหตุนั้น โจทก์ที่ 5เบิกความรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นค่าพาหนะและค่าที่พักให้ทั้งหมดส่วนที่โจทก์ที่ 5 ขอให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในอนาคตที่บุตรทั้งสองของโจทก์ต้องเดินทางไปเคารพศพนายโทมัสในสถานที่เกิดเหตุเป็นเวลา 10 ปีนั้นเห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ที่บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 จะใช้สิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายของบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 นั้น โจทก์ที่ 5 เบิกความตอบคำถามค้านว่านายโทมัสเคยจ่ายค่าอุปการะให้บุตรทั้งสองรวมกันเดือนละ 500 มาร์กเยอรมัน ตั้งแต่โจทก์ที่ 5 แยกทางกับนายโทมัส เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 มีอายุ 13 ปี และ 9 ปี เห็นควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 เป็นเงินรวม 2,500,000 บาท ส่วนที่โจทก์ที่ 5 ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีที่โจทก์ที่ 5 ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเพราะต้องสูญเสียสามีเป็นเงิน 10,000,000 บาทนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 5 หย่าขาดจากนายโทมัสก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ที่ 5 ไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัว โจทก์ที่ 5 ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น กรณีจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ที่ 5 ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ และที่โจทก์ที่ 5 ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอันเนื่องมาจากลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จงใจละเมิดกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานแห่งความปลอดภัยของการบินเป็นเงิน 20,000,000 บาทนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวมิใช่ค่าสินไหมทดแทนที่บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 จะเรียกร้องเอากับจำเลยได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 โจทก์ที่ 5 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้แทนบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 อีกเช่นกัน รวมโจทก์ที่ 5 มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในนามของบุตรทั้งสองเป็นเงินทั้งสิ้น 2,600,000 บาท ฎีกาของโจทก์ที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน อนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า บุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 มิใช่บุตรที่เกิดจากนายโทมัสผู้ตายนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 5 บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 5 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโทมัสผู้ตายและมีบุตรกับนายโทมัสผู้ตาย 2 คน คือเด็กชายแอททิคัสและเด็กชายทิโมเทอุส จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธว่าบุตรทั้งสองของโจทก์ที่ 5 มิใช่บุตรของนายโทมัสผู้ตาย ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าเด็กชายแอททิคัสและเด็กชายทิโมเทอุสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโทมัสผู้ตาย จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิแก้ฎีกาในปัญหาข้อนี้อีกเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว และที่โจทก์ที่ 5 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยเป็นเงินสกุลมาร์กเยอรมันตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 5 ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดและตามสัญญาประกันภัยโดยคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ให้โจทก์ที่ 5 เป็นเงินสกุลบาท แม้โจทก์ที่ 5 จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินสกุลมาร์กเยอรมันโดยคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงินสกุลบาทได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 2,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ