แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีพ.ศ.2539 มาตรา 4 นั้น นอกจากเป็นผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 11 กันยายน 2539อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่ผู้นั้นได้รับโทษตามคำพิพากษาอยู่ และยังไม่พ้นโทษในวันที่ 11 กันยายน 2539 ก็ต้องได้รับอภัยโทษปล่อยตัวหรือพ้นโทษออกมาตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2539 แล้วแต่กรณี การที่จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน แต่รอการลงโทษไว้ จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา กรณีของจำเลยจึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยย่อมไม่ได้รับผลตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกัน
จำเลยฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยไว้แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้และเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติไว้ แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบ เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และเมื่อรอการลงโทษจำคุกในคดีนี้ ย่อมไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้