คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7146/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายทำร้ายจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 1 เข้าช่วยจำเลยที่ 2 โดยผลักผู้ตายล้มลงแต่ผู้ตายลุกขึ้นมาเตะจำเลยที่ 1 ล้มลง ถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายยังคงมีอยู่ การที่จำเลยที่ 2 จับล็อกมือทั้งสองข้างของผู้ตายไว้ จึงเป็นการป้องกันตนหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ใช้ขวดแตกที่จำเลยที่ 1 หยิบฉวยได้ใกล้มือแทงผู้ตายเพียง 1 ครั้ง โดยไม่มีโอกาสเลือก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ขวดสุรา 1 ใบ ตีกับพื้นจนแตกเป็นปากฉลามเป็นอาวุธแทงประทุษร้ายร่างกายนายงวนหรือหงาน เสกแสง 1 ครั้ง โดยมีเจตนาฆ่า ถูกที่บริเวณลำคอด้านหน้าและด้านซ้ายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายอย่างแรง เป็นแผลทะลุเส้นเลือดดำใหญ่เป็นเหตุให้เลือดออกมากและนายงวนหรือหงานถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 288 ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 จำคุก 15 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยทั้งสองดื่มสุราอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายสง่ากับผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาที่บ้านของจำเลยที่ 2 และร่วมดื่มสุรากับจำเลยทั้งสอง จนเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา ผู้ตายกับจำเลยที่ 2 โต้เถียงกันเรื่องกุญแจรถจักรยานยนต์ ผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ต่อสู้ทำร้ายกันจำเลยที่ 1 เข้าช่วยจำเลยที่ 2 และใช้ขวดแทงผู้ตายที่บริเวณลำคอ 1 ครั้ง เป็นบาดแผลตามรายงานการตรวจของแพทย์เอกสารหมาย จ.1 และภาพถ่ายหมาย จ.11 ต่อมาวันที่20 เมษายน 2542 ผู้ตายถึงแก่ความตาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์มีนายสง่า เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 พูดขอกุญแจรถจักรยานยนต์จากผู้ตายเพื่อไปซื้อสุราและกับแกล้ม ผู้ตายบอกว่ากุญแจรถจักรยานยนต์หาย จำเลยที่ 2 ไม่เชื่อจึงเกิดโต้เถียงชกต่อยกันสักครู่จึงหยุด ต่อมาจำเลยที่ 2 พูดขอกุญแจรถจักรยานยนต์จากผู้ตายอีก ผู้ตายปฏิเสธเช่นเดิม จำเลยที่ 2กับผู้ตายจึงชกต่อยกันอีก แต่นายสง่าเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เมื่อสุราหมด นายสง่าเป็นผู้ออกไปซื้อสุรา จนเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา นายสง่ากับผู้ตายจะไปงานศพนายเบี้ยว แต่หากุญแจรถจักรยานยนต์ไม่พบ ผู้ตายถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองบอกไม่เห็น แต่ผู้ตายไม่เชื่อ จำเลยที่ 2 ถอดเสื้อและกางเกงให้ผู้ตายตรวจดู เห็นว่า นายสง่าเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองตรงกับทางนำสืบและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เชื่อว่าเหตุทำร้ายกันเกิดเพราะผู้ตายหากุญแจรถจักรยานยนต์ไม่พบ โดยผู้ตายเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เอาไปนอกจากนี้หากจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายถามหากุญแจรถจักรยานยนต์จำเลยที่ 2 คงไม่ต้องเป็นฝ่ายถอดเสื้อและกางเกงให้ผู้ตายตรวจดูนายสง่ากับผู้ตายจะไปงานศพ แต่หากุญแจรถจักรยานยนต์ไม่พบผู้ตายจึงโกรธและเป็นฝ่ายทำร้ายจำเลยที่ 2 ก่อน นายสง่าเบิกความว่าผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ต่อสู้กัน และตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า ผู้ตายล็อกคอและตีเข่าถูกจำเลยที่ 2 หลายครั้ง จนจำเลยที่ 2 ทรุดลงกับพื้น จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ถูกประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 2เรียกจำเลยที่ 1 ให้ช่วย จำเลยที่ 1 ผลักผู้ตายล้มลง ผู้ตายลุกขึ้นมาและเตะจำเลยที่ 1 จนล้มลง การที่จำเลยที่ 2 เข้ามาจับมือทั้งสองข้างของผู้ตายล็อกไว้ข้างหลังก็เพื่อให้ตนเองและจำเลยที่ 1 พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากผู้ตาย หลังจากจำเลยที่ 1 ใช้ขวดแทงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 2 กับนายสง่ายังคงนั่งดื่มสุราอยู่ที่เดิม แสดงว่าจำเลยที่ 2 และนายสง่าไม่ทราบว่าผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ใช้ขวดแตกแทง ขวดที่จำเลยที่ 1 ใช้แทงเป็นขวดสุราที่ตกอยู่ตรงที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20.30 นาฬิกา มีแสงไฟเพียงสลัว ๆประกอบกับเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีอาการเมาสุราเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่เห็นว่าที่มือของจำเลยที่ 1 มีขวดแตก จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ขวดแตกแทงผู้ตาย ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 เพียงจับล็อกมือทั้งสองข้างของผู้ตายไว้ จึงเป็นการป้องกันตนหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันใกล้จะถึงและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยที่ 1 เข้าช่วยจำเลยที่ 2 โดยผลักผู้ตายล้มลง แต่ผู้ตายลุกขึ้นมาเตะจนจำเลยที่ 1 ล้มลง ถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายยังคงมีอยู่ อาวุธที่จำเลยที่ 1 ใช้แทงผู้ตายเป็นขวดแตกที่จำเลยที่ 1 หยิบฉวยได้ใกล้มือ จำเลยที่ 1 แทงผู้ตายเพียง 1 ครั้ง โดยไม่มีโอกาสเลือกการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share