คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7139/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้ที่จำเลยใช้บัตรเครดิตมิใช่หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจออกบัตรเครดิตให้จำเลยใช้แทนการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเงินสด หรือใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจำเลยใช้บัตรเครดิตวันที่ 31มีนาคม 2535 ถือได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามบัตรเครดิตตั้งแต่นั้นมานับถึงวันฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2542 เกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 581-3-00765-7 ไว้กับโจทก์ โดยจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามระเบียบการตามประเพณีและวิธีปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ จำเลยตกลงใช้เช็ครวมทั้งหลักฐานแห่งหนี้ของโจทก์เป็นหลักฐานในการเบิกเงินและตัดทอนบัญชีเดินสะพัดต่อกัน ในกรณีที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวแต่มีจำนวนเงินไม่พอจ่ายตามเช็คและโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายเงินตามเช็คไปก่อน จำเลยยอมให้ถือว่าเป็นหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดหรือหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นให้โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยนำเงินเข้าบัญชีและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีหลายครั้ง เมื่อมีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย จำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์เป็นเงิน108,939.5 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 24,796.33 บาท รวมเป็นเงิน133,735.90 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 133,735.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 108,939.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ไม่ใช่หนี้ตามบัญชีเดินสะพัดแต่เป็นหนี้เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตซึ่งจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ชำระค่าสินค้าและบริการโดยโจทก์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากจำเลยจึงเป็นการประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อจำเลยได้ชำระหนี้หักทอนบัญชีของจำเลยตามฟ้องให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กันยายน2542 เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 34,759.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นในต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2535 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2535 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่22 ธันวาคม 2535 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 8กันยายน 2540 อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 อัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 10ธันวาคม 2541 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 14 มกราคม2542 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542อัตราร้อยละ 17 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2542 อัตราร้อยละ16 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 อัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2542 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยยื่นคำขอใช้บริการบัญชีเดินสะพัดของโจทก์ประเภทเงินฝากกระแสรายวันบัญชีเลขที่ 581-3-00765-7 โดยจำเลยยินยอมปฏิบัติตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องบัญชีเดินสะพัดและตกลงใช้เช็คหรือหลักฐานแห่งหนี้ไม่ว่าประเภทใด ๆ เป็นหลักฐานในการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยยื่นคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าผู้ยื่นคำขอยินยอมให้ธนาคารโจทก์หักเงินจากบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยได้ขอเปิดไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตได้ตามใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.3 จำเลยสั่งจ่ายเช็คถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นเงิน 12,900 บาท และวันที่ 8มีนาคม 2533 เป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยคงเหลือเงินในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว100 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ใช้เช็คถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวอีกเลยคงใช้บัตรเครดิตนำฝากเงินและถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว จนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2535 จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์จำนวน 34,261.90 บาท หลังจากนั้นไม่ได้เคลื่อนไหวทางบัญชี คงมีแต่คิดดอกเบี้ยในวันสิ้นเดือนทุกเดือนจนถึงวันฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าหนี้ที่จำเลยจ่ายเช็ค จำเลยชำระให้แก่โจทก์หมดแล้ว คงเหลือแต่หนี้ที่จำเลยใช้บัตรเครดิตของโจทก์เท่านั้น หนี้ที่จำเลยใช้บัตรเครดิตจึงมิใช่หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด แต่เป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจออกบัตรเครดิตให้จำเลยใช้แทนการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเงินสดหรือใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจำเลยใช้บัตรเครดิตวันที่ 31 มีนาคม 2535 ถือได้ว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามบัตรเครดิตตั้งแต่นั้นมานับถึงวันฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2542 เกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีกำหนดอายุความ10 ปี นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share