แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน กรณีจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำร้องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 2 เลิกจ้าง และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 กรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยส่วนแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ควรเพิกถอน แต่กลับวินิจฉัยในส่วนหลังว่า การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวมิใช่เรื่องงานอาจลงโทษเบากว่าเลิกจ้างได้ และอ้าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 และมาตรา 52 มาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 2 ขัดกันเอง และไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เหตุทำร้ายร่างกายเกิดบนรถบัสรับส่งพนักงานที่จำเลยที่ 2 นายจ้างจัดให้ลูกจ้างเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน แม้จะเป็นเวลาก่อนที่ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นเวลาเกี่ยวเนื่องก่อนลูกจ้างเข้าทำงาน จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งหรือระเบียบห้ามมิให้พนักงานที่โดยสารรถรับส่งทำร้ายร่างกายและทะเลาะวิวาทบนรถรับส่งพนักงานได้ ประกาศของจำเลยที่ 2 เรื่อง การทำร้ายร่างกาย และทะเลาะวิวาทภายในโรงงาน รถรับส่งพนักงาน และพื้นที่ที่บริษัทกำหนด จึงมีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์ทำร้าย ร. โดยบีบคอจนมีรอยแดงช้ำที่คอเข้าข่ายเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 2 และประกาศดังกล่าว อันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 2) จ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้เพิกถอนคำสั่งที่ 72/2555 ของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 24,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 คำขออื่น ๆ ให้ยกเสียทั้งสิ้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 72/2555 กรณีจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำร้องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 2 เลิกจ้าง และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 กรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย
คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 72/2555 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 กรณีร้ายแรงหรือไม่ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยในส่วนแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ควรเพิกถอน แต่กลับวินิจฉัยในส่วนหลังว่า การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวมิใช่เรื่องงานอาจลงโทษเบากว่าเลิกจ้างได้ และศาลแรงงานภาค 2 กลับอ้างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 และมาตรา 52 มาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 2 ขัดกันเอง กล่าวคือหากโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรงและจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโดยชอบตามที่วินิจฉัยในส่วนแรก ศาลแรงงานภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยเพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น แต่ศาลแรงงานภาค 2 กลับมาวินิจฉัยเพิ่มขึ้นนอกเหนือประเด็นข้อพิพาทอีกว่า การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินสมควร คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงมาเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้ เพื่อความรวดเร็วจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัย
คดีนี้ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุเกิดในรถบัสรับส่งพนักงานของจำเลยที่ 2 รับพนักงานจากเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไปทำงานที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อทำงานกะดึกเวลา 20 นาฬิกา เป็นต้นไป รถบัสคันเกิดเหตุเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคนิตยา ทัวร์ มีนายอนุชา เป็นคนขับ เหตุเริ่มต้นเกิดจากโจทก์ถอดรองเท้าเอาขาพาดเหยียดเท้ากับราวจับบันไดกลางรถบัสซึ่งมีประตูกลาง ประตูกลางจะใช้เฉพาะเวลาพนักงานลงรถพร้อมกันจำนวนมาก นางรวีวรรณ ต่อว่าโจทก์ในเรื่องนี้พร้อมจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายรูปโจทก์ โจทก์มีอารมณ์โกรธโจทก์จึงทำร้ายนางรวีวรรณโดยบีบคอ จำเลยที่ 2 มีระเบียบข้อบังคับการทำงานข้อ 39 กำหนดว่า “ทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่หัวหน้างานหรือผู้กระทำการแทนบริษัท หรือลูกค้าบริษัท หรือพนักงานหรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มาติดต่องานกับบริษัท ทั้งในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงานในบริเวณบริษัท หรือสถานที่ที่บริษัทจัดกิจกรรม” เป็นความผิดร้ายแรง และจำเลยที่ 2 มีประกาศเลขที่ HR/ER – 002/2549 เรื่อง การทำร้ายร่างกาย และทะเลาะวิวาทภายในโรงงาน รถรับส่งพนักงาน และพื้นที่ที่บริษัทกำหนด โดยระบุว่า “พนักงานที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทั้งในเขตพื้นที่บริษัท บนรถรับส่งพนักงาน หรือภายนอกบริษัทซึ่งเป็นสถานที่ที่บริษัทจัดกิจกรรม บริษัทจะพิจารณาลงโทษเลิกจ้างพนักงานที่กระทำผิด โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น” เห็นว่า คดีนี้เกิดเหตุบนรถรับส่งพนักงานที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้ลูกจ้างเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน แม้จะเป็นเวลาก่อนที่ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นเวลาเกี่ยวเนื่องก่อนลูกจ้างเข้าทำงาน จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งหรือระเบียบห้ามมิให้พนักงานที่โดยสารรถรับส่งทำร้ายร่างกายและทะเลาะวิวาทบนรถรับส่งพนักงานได้ ดังนั้นประกาศเลขที่ HR/ER – 002/2549 จึงมีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์ทำร้ายนางรวีวรรณมีรอยแดงช้ำที่คอเข้าข่ายเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 2 ข้อ 39 และประกาศเลขที่ HR/ER – 002/2549 อันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 และให้ยกฟ้องโจทก์