แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุ 5 ปีเศษ มาเบิกความด้วยตนเองแล้ว แต่ระหว่างการสืบพยานไม่ให้ความร่วมมือที่จะตอบคำถาม ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งบันทึกไว้ในชั้นสอบสวนต่อหน้าคู่ความ ถือว่าภาพและเสียงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคสาม มิใช่พยานบอกเล่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279 และ 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรของนางสาว ช. ผู้เสียหายที่ 2 กับนาย ฉ. ขณะเกิดเหตุอายุ 5 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 2 กับนาย ฉ. แยกทางกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ผู้เสียหายที่ 1 พักอยู่กับนาย ฉ. ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์จะไปอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 บ้านเช่าของจำเลยอยู่ห่างจากบ้านของนาย ฉ. ประมาณ 40 เมตร ผู้เสียหายที่ 1 เรียกจำเลยว่า ” อากุ้ง ” สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ความผิดดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้ผู้เสียหายที่ 1 จะเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็เป็นเพราะความไร้เดียงสาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 5 ปีเศษ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกินกว่าจะอยู่ในความรู้เห็นตามวัยของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีความจำเป็นที่นักสังคมสงเคราะห์อาจต้องถามซ้ำไปมาหลายครั้งหรือตั้งคำถามใหม่ รวมทั้งสรุปคำถามกับคำตอบกลับไปกลับมา แต่มิใช่เป็นการใช้คำถามนำทั้งหมด พนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ กับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุผลที่ต้องใช้คำถามนำให้ผู้เสียหายที่ 1 ตอบเพื่อปรักปรำจำเลยดังที่จำเลยฎีกา เมื่อผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความด้วยตนเองแล้ว แต่ระหว่างการสืบพยานไม่ให้ความร่วมมือที่จะตอบคำถาม ศาลชั้นต้นจึงเห็นสมควรให้ถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งบันทึกไว้ในชั้นสอบสวนต่อหน้าคู่ความ กรณีจึงถือว่าภาพและเสียงคำให้การดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นพิจารณาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคสาม ซึ่งไม่ใช่พยานบอกเล่าตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด จึงรับฟังภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 พิเคราะห์คำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 กับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 แล้วสอดคล้องกันตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 เล่าให้ผู้เสียหายที่ 2 ฟังว่าเห็นอวัยวะเพศของจำเลย ผู้เสียหายที่ 2 กับมารดาช่วยกันซักถาม และได้ความว่าจำเลยเปิดหนังในโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผู้หญิงแก้ผ้าให้ดู แล้วเอาอวัยวะเพศมาจิ้มที่อวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้วมีน้ำนมไหลออกมา จำเลยไปเข้าห้องน้ำแล้วเอากระดาษชำระมาเช็ดอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้ความดังกล่าวเพียงพอให้รับฟังถึงพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่ผู้เสียหายที่ 1 ตอบคำถามไม่ได้เพราะไม่เข้าใจคำถามนั้น ก็ไม่กระทบถึงการรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญแห่งพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมา ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27 ) พ.ศ.2562 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 (เดิม) และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
พิพากษายืน