คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9050/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ถึง พ.ศ. 2534 ของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด โดยกำหนดสูงกว่าราคาที่ดินที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ก่อนถูกแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ที่ให้นำมาตรา 21(2)(3) มาเป็นเกณฑ์กำหนดก็ตามแต่ก็เป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญญัติดังกล่าว มิใช่ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งกำหนดราคาเบื้องต้น การจ่ายเงินค่าทดแทนในการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่14 มกราคม 2534 คดีจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่29 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับ ฉะนั้นการพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวจะต้องนำเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 21(1)(4) และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย อำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเพราะเหตุราคาลดลงนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ครั้งนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ จำเลยได้สร้างทางจำเป็นกว้าง 4.80 เมตร ให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ซึ่งโจทก์สามารถใช้ทางจำเป็นดังกล่าวเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยสะดวกอยู่แล้ว ที่โจทก์จะขอให้จดทะเบียนเป็นภารจำยอมให้มีความกว้าง 6 เมตรนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไปนั้นเพื่อ วัตถุประสงค์ให้เป็นทางด่วนสาธารณูปโภคและได้มีประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515ข้อ 29 บัญญัติมีใจความว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นเชื่อมต่อทางพิเศษ หากมีการฝ่าฝืน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ห้ามเด็ดขาดที่จะมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือน หรือสิ่งอื่นเชื่อมทางพิเศษ ทั้งการได้ภารจำยอมในที่ดินแปลงใดก็ตามต้องได้มาโดยนิติกรรม โดยอายุความ หรือโดยผลกฎหมายที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น เมื่อกรณีของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่อาจบังคับภารจำยอมให้โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ผู้ได้รับชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นจะต้องได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใด ก็เป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราต่อปีคงที่เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนสามแปลงคือโฉนดเลขที่ 88510 เนื้อที่ 20 ตารางวา โฉนดเลขที่665 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 8293เนื้อที่ 100 ตารางวา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวาเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางพิเศษ สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท ศรีนครินทร์ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 88510 ทั้งแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนทั้งหมดที่ดินโฉนดเลขที่ 665 บางส่วนตรงกลางของที่ดินเป็นเนื้อที่1 ไร่ 1 งาน 97 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืน คงเหลือเนื้อที่ 345 ตารางวา ทำให้ที่ดินแยกเป็นสองแปลงไม่มีทางออกรวมที่ดินถูกเวนคืนเนื้อที่ 617 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาเบื้องต้นตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงิน4,936,000 บาท จำเลยถือเอาราคาดังกล่าวกำหนดเป็นจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเพิ่มจำนวนค่าทดแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วยกับจำนวนค่าทดแทนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ โจทก์เห็นว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 9, 18 และ 21 ทั้งจำเลยทำบัญชีราคาประเมินที่ดินเขตพญาไทและกำหนดให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในหน่วยที่ 10 ปี กำหนดราคาตารางวาละ 25,000 บาท จำเลยไม่กำหนดราคาเบื้องต้นและค่าทดแทนราคาดังกล่าวโดยอ้างว่าที่ดินไม่ติดทางสาธารณะ การเวนคืนที่ดินที่มิใช่เพื่อสาธารณะประโยชน์และสาธารณูปโภคอันเป็นบริการให้เปล่า แต่เป็นกรณีเพื่อสร้างทางพิเศษเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางเข้าลักษณะอันเป็นการค้ากำไรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ที่ดินบริเวณใกล้เคียงซื้อขายกันในราคาตารางวาละ80,000 บาท โจทก์ขอคิดราคาในวันประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 6 ตารางวาละ 40,000 บาท เป็นค่าทดแทนเป็นเงิน24,680,000 บาท เมื่อหักค่าทดแทนเบื้องต้น จำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนอีกเป็นเงิน 19,744,000 บาท ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากเวนคืนเนื้อที่ 345 ตารางวา แยกออกเป็นสองแปลงไม่เหมาะในการปลูกสร้างอาคารหรือใช้สอย ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะขายยากและไม่ได้ราคา ทำให้ราคาลดลง ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 จำเลยต้องจ่ายทดแทนทำให้ราคาลดลงสามในสี่ส่วนเหลือตารางวาละ 10,000 บาท ราคาลดลงตารางวาละ 30,000 บาท คิดเป็นเงิน 10,350,000 บาท เนื่องจากที่ดินที่เหลือสองแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงขอให้จำเลยเปิดทางกว้างไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะมาแต่เดิมโดยให้จำเลยจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 19,744,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,440,142.03 บาท รวมเป็นเงิน 22,184,142.03 บาทกับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 19,744,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งราคาลดลงจำนวน 10,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมตามฟ้อง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดราคาเบื้องต้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 21(3) จะนำเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดหรือราคาที่แท้จริงมากำหนดราคาที่ดินตามที่โจทก์อ้างไม่ได้ นอกจากนี้ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนทำให้ราคาลดลง ก่อนเวนคืนที่ดินของโจทก์ไม่ติดทางสาธารณะ เมื่อถูกเวนคืนแล้วส่วนที่เหลือทั้งสองแปลงติดทางสาธารณะทางด่วนที่ตัดใหม่ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าจะเปิดทางเข้าออกกว้าง 6 เมตร สู่ทางสาธารณะจึงทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โจทก์จึงเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ไม่ได้ ที่โจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมทางที่ออกสู่สาธารณะไม่สามารถกระทำได้เพราะผิดวัตถุประสงค์ในการเวนคืน ทั้งไม่มีกฎหมายเวนคืนที่ดินให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เพียงแต่พระราชกฤษฎีกาออกมาเพื่อสำรวจและกำหนดค่าทดแทนเท่านั้น จำเลยยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงจดทะเบียนเป็นภารจำยอมให้แก่โจทก์ไม่ได้ ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำอัตราสูงสุดของธนาคารออมสินในขณะที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินทดแทนไม่ถึงอัตราร้อยละ 13 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 4,519,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนและมีราคาลดลงจำนวน 1,725,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 9,255,000 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 88510 เนื้อที่ 20 ตารางวา โฉนดเลขที่ 665 เนื้อที่2 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 8293 เนื้อที่100 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 88511 จดทะเบียนเป็นภารจำยอมที่ดินของโจทก์เพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมา พ.ศ. 2530ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 เป็นต้นไป ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 88510 ทั้งแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนทั้งหมด ที่ดินโฉนดเลขที่ 665 อยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนเฉพาะส่วนตรงกลางเป็นเนื้อที่ 597 ตารางวา ทำให้ส่วนที่เหลือแยกออกเป็นสองแปลงเป็นเนื้อที่ 345 ตารางวาคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 และมาตรา 21(2)(3)และใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534 ของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทน แล้วกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 8,000 บาท คิดเป็นเงิน 4,936,000 บาท โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นด้วยกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้โจทก์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยให้เงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เพิ่มขึ้นตารางวาละ 13,200 บาท เป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น3,208,400 บาท โจทก์ยังไม่พอใจ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยข้อแรกมีว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวนเท่าไร เห็นว่าประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ข้อ 1 ได้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24และดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน” และข้อ 2ให้เพิ่มความต่อไปเป็นมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการได้ประกาศราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่จะเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนแล้ว ถ้าปรากฏว่าราคาของที่ดินได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับและราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าหน้าที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 หรือราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่คณะกรรมการกำหนดและประกาศไปแล้วตามมาตรา 9ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลตามมาตรา 18 รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาที่ซื้อขายกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี” และตามข้อ 5 ของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติก็ระบุว่า “บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า มาตรา 10 ทวิ มาตรา 25 วรรคหนึ่งและมาตรา 28 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย” เจตนารมณ์ที่ต้องมีการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้ให้เหตุผลไว้ในประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ว่า “เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้บัญญัติให้การกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินโดยถือตามราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์สมควรให้นำหลักเกณฑ์อื่นมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นประกอบกับในปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนปรากฏเนือง ๆ ว่า ราคาที่ดินได้เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ถูกเวนคืนเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมดังนั้น เพื่อให้การกำหนดค่าทดแทนเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สมควรให้มีการแก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้กำหนดไว้ได้” ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534 ของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด โดยกำหนดสูงกว่าราคาที่ดินที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ก่อนถูกแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ที่ให้นำมาตรา 21(2)(3) มาเป็นเกณฑ์กำหนดก็ตามแต่ก็เป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญญัติดังกล่าว มิใช่ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อปรากฏว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 5 ดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งกำหนดราคาเบื้องต้น การจ่ายเงินค่าทดแทนในการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 14 มกราคม2534 คดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2534ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับ ฉะนั้นการพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวจะต้องนำเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 21(1)(4) และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย เกี่ยวกับราคาที่ดินซึ่งซื้อขายกันในท้องตลาดศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า ที่โจทก์อ้างว่า บริเวณที่ดินใกล้เคียงกันมีการบอกขายตารางวาละ 80,000 บาท แต่ยังไม่มีการซื้อขายกัน การที่ขอเงินค่าทดแทนตารางวาละ 40,000 บาทโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาอ้างอิงประกอบ จึงเลื่อนลอยอย่างไรก็ตามปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ทั้งหมดได้ภารจำยอมทางเดินบนที่ดินโฉนดเลขที่ 88911 เนื้อที่ 15 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 88510 ตามแผนผังเอกสารหมาย จ.6และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินหมายเลข 247 ที่ติดถนนย่านสินค้าพหลโยธินมีสภาพเป็นทางสาธารณะเพราะเป็นทางเท้าสำหรับประชาชนใช้เดินสัญจรไปมา กรณีเช่นนี้ถือว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 88510ของโจทก์ติดกับทางสาธารณะแล้ว แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 665 และที่ดินโฉนดเลขที่ 8293 ของโจทก์ไม่ติดทางสาธารณะดังกล่าว แต่ก็อยู่ด้านหลังของที่ดินโฉนดเลขที่ 88510 ย่อมสามารถผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 88510 ออกสู่ถนนย่านสินค้าพหลโยธินได้ หากโจทก์ขายที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงตามราคาธรรมดาในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯใช้บังคับแล้ว น่าจะได้ราคาใกล้เคียงกันกับราคาที่ดินของนางมณฑาและนางประยงค์ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนให้ซึ่งมีราคาสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ใหม่ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มาตรา 10 ทวิ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในราคาตารางวาละ 13,200 บาท โดยโจทก์ก็ยังโต้แย้งอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่รวม 617 ตารางวาตารางวาละ 23,000 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์รวม 9,255,000 บาท เป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาข้อที่สองตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่าโจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือหรือไม่ จำนวนเท่าใดเห็นว่า เกี่ยวกับอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเพราะเหตุราคาลดลงนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย” ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ครั้งนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้
มีปัญหาต่อไปว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาลดลงไปหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เดิมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 88510 และที่ดินโฉนดเลขที่ 665 เป็นที่ดินผืนเดียวกันสามารถผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 88511 ของผู้อื่นที่โจทก์ได้ภารจำยอมออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 665ถูกเวนคืนเฉพาะส่วนตรงกลางเป็นเนื้อที่ 597 ตารางวา ทำให้ส่วนที่เหลือแยกออกเป็นสองแปลงเนื้อที่รวมกัน 345 ตารางวาอยู่ตอนหัวและตอนท้ายที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงทำให้สภาพที่ดินเสียไปไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะในที่ภารจำยอมตามเดิมได้แม้จำเลยจะเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ออกสู่ทางสาธารณะ คือถนนย่านสินค้าพหลโยธินได้ แต่ทางจำเป็นดังกล่าวกว้างเพียง4.80 เมตร เล็กกว่าทางเดิมที่กว้าง 6.75 เมตร ทำให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ลดน้อยลงกว่าเดิม ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ย่อมมีราคาลดลงด้วยเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือนั้น โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เคยนำที่เหลือจากการเวนคืนไปเสนอขอให้แก่ผู้ใดได้หรือไม่ หรือมีผู้เสนอซื้อราคาเท่าใด ทั้งไม่นำผู้มีความรู้เกี่ยวกับราคาประเมินที่ดินมาสืบให้เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวราคาลดลงเหลือตารางวาละเท่าใด หรือมีราคาซื้อขายในท้องตลาดราคาตารางวาละเท่าใด แม้ทางเข้าออกกว้างที่จำเลยสร้างให้เพียง 4.80 เมตร ไม่เท่าทางเดิม ซึ่งกว้างกว่า 6 เมตร ซึ่งทำให้โจทก์เสียหายบ้างก็ตาม แต่ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 665 ส่วนที่เหลือแยกเป็นสองแปลง แปลงหนึ่งมีเนื้อที่ 205 ตารางวา อีกแปลงหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางวายังสามารถปลูกสร้างอาคารอย่างอื่นได้เพียงแต่ประโยชน์ใช้สอยน้อยลงเท่านั้น ราคาจึงไม่ลดลงมาก ดังที่โจทก์ฎีกามาที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้จำนวน 1,725,000 บาทเหมาะสมดีแล้ว
ปัญหาข้อที่สามตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ขอให้จำเลยทำทางเข้าออกให้ที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะกว้าง 6 เมตรและจดทะเบียนภารจำยอมได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้สร้างทางจำเป็นกว้าง 4.80 เมตร ให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ออกสู่ถนนย่านสินค้าพหลโยธินแล้วซึ่งโจทก์สามารถใช้ทางจำเป็นดังกล่าวเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยสะดวกอยู่แล้ว ส่วนที่โจทก์จะขอให้จดทะเบียนเป็นภารจำยอมให้มีความกว้าง 6 เมตรนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไปนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นทางด่วนสาธารณูปโภคและได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515ข้อ 29 บัญญัติมีใจความว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นเชื่อมต่อทางพิเศษ หากมีการฝ่าฝืน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ห้ามเด็ดขาดที่จะมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือน หรือสิ่งอื่นเชื่อมทางพิเศษ ทั้งการได้ภารจำยอมในที่ดินแปลงใดก็ตามต้องได้มาโดยนิติกรรมโดยอายุความหรือโดยผลกฎหมายที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น กรณีของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่อาจบังคับภารจำยอมให้โจทก์ได้
ปัญหาสุดท้ายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนเพิ่มได้หรือไม่ เพียงใดเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” จากบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ได้รับชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นจะต้องได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดก็เป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปีคงที่นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ต้องชำระเพิ่มจำนวน 9,255,000 บาท ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share