คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จสองครั้งในคดีเดียวกัน คือในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันประโยคเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้ง โดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาได้เป็นความผิดต่างกรรมไม่
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2562)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 175, 177
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 14,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และปรับ 24,000 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 14,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด เดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทวี. พี. แอสเซ็ทส์ จำกัด และบริษัทพาร์คฮิลล์เรียลตี้ จำกัด ผู้ก่อตั้งโครงการเดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม และเป็นเจ้าของรวมของอาคารชุด เดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม มีนางสาวเปล่งศรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 โจทก์ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 นายภูริชญ์ และนางสาวเปล่งศรี ได้พูดคุยเรื่องที่จำเลยที่ 1 เสนอปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าว หลังจากนั้นได้พุดคุยเรื่องห้องน้ำบริเวณชั้นล็อบบี้และพื้นที่ส่วนกลาง โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้โต้เถียงกันหลายเรื่อง นางสาวเปล่งศรีจึงให้ยุติการประชุม ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้าต่อศาลแขวงพระนครใต้ เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4897/2556 และจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าว ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเท็จและจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความเท็จในคดีก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุคดีนี้มาจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4897/2556 ของศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งคดีถึงที่สุด ในคดีดังกล่าวโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ฟ้องจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ว่า จำเลยได้ดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าและใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ต่อหน้าโจทก์ นางเปล่งศรี นายภูริชญ์ นายเอกสิทธิ์และนางอังสนาซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยจำเลยกล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์ว่า “โจทก์เป็นคนโกหก” “โจทก์เป็นคนคดโกง” “โจทก์เป็นคนไม่ดี” “สาปแช่งโจทก์ให้ไฟไหม้” “ชื่อเสียงโจทก์เหม็นเน่า” “โจทก์ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง” จำเลยให้การปฏิเสธ ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคือจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์ว่าโจทก์เป็นคนโกหก เป็นคนคดโกง เป็นคนไม่ดี สาปแช่งโจทก์ให้ไฟไหม้ ชื่อเสียงโจทก์เหม็นเน่า โจทก์ไม่จ่ายค่าส่วนกลาง ส่วนจำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่เคยพูดถ้อยคำที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกล่าวดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจึงมาจากพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหา มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบว่า จำเลยพูดถ้อยคำดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหา เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้พูดถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาในฟ้องดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวจึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่า กระทำความผิดอาญาและการที่โจทก์กับนางอังสนา (จำเลยที่ 3 ในคดีนี้) เบิกความว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวหาในคดีดังกล่าวก็เป็นการเบิกความอันเป็นเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและในชั้นพิจารณานั้น เป็นความผิดต่างกรรมหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เบิกความสองครั้งในคดีเดียวกันคือ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณา แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราว แต่ก็เป็นการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกัน ประโยคเดียวกัน มูลเหตุเดียวกันมากล่าวอีกครั้ง โดยมีเจตนาให้โจทก์ต้องโทษในคดีเดียวกันเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 นำเอาความเท็จมาฟ้องว่า โจทก์กระทำความผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความเท็จในคดีดังกล่าว แสดงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ประสงค์จะใช้ศาลเป็นเครื่องมือลงโทษโจทก์ที่ไม่ได้กระทำความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษ มาตรา 175 และมาตรา 177 โดยให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, มาตรา 177 วรรคสอง (เดิม) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา จำคุก 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 14 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 8 เดือน

Share