คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3600/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า วันสุดท้ายที่มาทำงาน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 อันมีความหมายว่าโจทก์ประสงค์ลาออกโดยให้มีผลบังคับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 การขอลาออกของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ประกอบกับการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจะเลิกกันก็ต่อเมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุไว้ในใบลาออก คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แล้วแต่กรณี มิใช่เกิดผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่โจทก์ยื่นใบลาออก ระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้นโจทก์และจำเลยยังคงมีความสัมพันธ์และมีสิทธิหน้าที่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่จนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ว่าโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท ซึ่งมีผลทันที ถือว่าจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่ มิใช่จำเลยใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ของโจทก์ในใบลาออกอันจะถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนกรกฎาคม 2555 เป็นเงิน 56,000 บาท ค่าชดเชย 90 วัน เป็นเงิน 168,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 13 วัน เป็นเงิน 80,266.58 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4 วัน เป็นเงิน 7,466.64 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินดังกล่าวทุกจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือไปยังลูกจ้างและลูกค้าของจำเลยว่าหนังสือเลิกจ้างเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถูกกลั่นแกล้ง และให้ออกหนังสือรับรองประวัติการทำงานแก่โจทก์ว่าทำงานดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยถูกพักงาน หรือลงโทษใด ๆ หากไม่ปฏิบัติให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,799.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขออื่นนอกจากนี้
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเป็นยุติว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายผลิต ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย โดยให้มีผลในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 จำเลยอนุญาต ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 จำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์รวมทั้งบุคคลอื่นอีกหลายคน จำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนกรกฎาคม 2555 ให้แก่โจทก์ครบถ้วน แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา โจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลย แม้จะบอกเลิกสัญญาไม่ครบกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 และโจทก์ไม่ได้ทำงานตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 แต่โจทก์ได้รับค่าจ้างจากจำเลยในเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งตรงตามความประสงค์ของโจทก์ ส่วนที่จำเลยส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์และบุคคลต่าง ๆ ไม่มีผลเนื่องจากโจทก์บอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกสัญญาเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว จึงเริ่มมีผลนับแต่วันที่บอกกล่าว คือ วันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ซึ่งโจทก์ไม่อาจถอนได้ ไม่ว่าโจทก์บอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบกำหนดเวลาตามกฎหมายก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลของการบอกเลิกสัญญา อีกทั้งในวันฟ้องก็ครบกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ถือได้ว่าจำเลยไม่สามารถเลิกสัญญาจ้างโจทก์ได้อันเป็นกรณีจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่เป็นกรณีโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1.5 วัน คิดเป็นเงิน 2,799.99 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์ก่อนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะลาออก ถือว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า วันสุดท้ายที่มาทำงาน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 อันมีความหมายว่าโจทก์ประสงค์ลาออกโดยให้มีผลบังคับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 การขอลาออกของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ประกอบกับการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจะเลิกกันก็ต่อเมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุไว้ในใบลาออก คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แล้วแต่กรณี มิใช่เกิดผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่โจทก์ยื่นใบลาออก ระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้นโจทก์และจำเลยยังคงมีความสัมพันธ์และมีสิทธิหน้าที่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่จนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 โดยมีข้อความว่าโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท ซึ่งมีผลทันที อันเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่สุจริตและพฤติกรรมที่ไร้จรรยาบรรณ ถือว่าจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่ มิใช่จำเลยใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ของโจทก์ในใบลาออกแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างเองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปอีก แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่เฉพาะประเด็นข้างต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในประเด็นค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share