แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมลงจากรถโดยสารประจำทางในขณะที่รถยังเคลื่อนตัว ทำให้โจทก์ร่วมเสียหลักล้มลงได้รับอันตรายแก่กายสาหัส การได้รับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมจึงเป็นเพราะโจทก์ร่วม ลงจากรถเอง มิใช่เพราะประตูรถคันเกิดเหตุที่จำเลยขับ ชำรุดปิดไม่ได้ จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานประมาทเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส การที่โจทก์ร่วมเสียหลักล้มขณะลงจากรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุมิใช่เกิดจากจำเลยไม่หยุดรถที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและเข้าเกียร์กระชากอย่างแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้างจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ประกอบมาตรา 157 การที่โจทก์ร่วมเสียหลัก ล้มขณะลงมาจากรถโดยสารประจำทาง ศีรษะของโจทก์ร่วม ฟาดกับขอบพื้นทางเท้าและขาข้างซ้ายถูกล้อรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุทับได้รับอันตรายสาหัสในทันที การที่จำเลยไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่ใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่มีความผิดตามมาตรา 78ประกอบมาตรา 160 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายประสาท หอมสนั่น ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง ปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 9,000 บาทเมื่อเกิดเหตุแล้วญาติจำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้ายโดยเสนอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 60,000 บาท และตกลงชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตามที่ผู้เสียหายจ่ายไปจริง ประกอบกับจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปีโดยให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้งตลอดระยะเวลาคุมประพฤติ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับ 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยขับรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-0931กรุงเทพมหานคร มาตามถนนพระรามที่ 5 จากปากคลองตลาดไปเตาปูนมีนายประสาท หอมสนั่น โจทก์ร่วมและคนอื่น ๆ โดยสารมาด้วยโจทก์ร่วมนั่งอยู่บนฝาครอบเครื่องยนต์บริเวณส่วนหน้าของรถใกล้กับที่นั่งคนขับ เมื่อรถแล่นมาถึงป้ายจอดรถโดยสารประจำทางก่อนจะถึงบริเวณทางแยกสะพานแดง จำเลยไม่ได้จอดรถรับส่งผู้โดยสารแต่ขับรถแล่นเลยไปบริเวณทางแยกขณะเดียวกันโจทก์ร่วมได้ลุกจากที่นั่งมาที่ประตูขึ้นลงรถด้านหน้าและได้ตกลงจากรถทางประตูด้านหน้ารถดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายสาหัส มีคนในรถร้องตะโกนว่าคนตกรถ จำเลยจึงหยุดรถบริเวณแยกสะพานแดง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำโดยประมาทขับรถยนต์ซึ่งประตูรถอยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ ไม่สามารถปิดได้ และขับรถกระชากอย่างแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมตกลงจากรถทางประตูด้านหน้ารถได้รับอันตรายแก่กายสาหัสอันจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ดังนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยขับรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุกระชาก เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมตกจากรถ แต่ตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมลงจากรถในขณะที่รถยังเคลื่อนตัว ทำให้โจทก์ร่วมเสียหลักล้มลงได้รับอันตรายแก่กายสาหัสมากกว่า การได้รับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมจึงเป็นเพราะโจทก์ร่วมลงจากรถเองมิใช่เพราะประตูรถคันเกิดเหตุที่จำเลยขับชำรุดปิดไม่ได้ จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อหานี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยไม่หยุดรถที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและเข้าเกียร์กระชากอย่างแรงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายตกจากรถได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้นผลที่เกิดแก่ผู้เสียหายเป็นการกระทำโดยตรงจากการกระทำของจำเลยอันถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 157 และหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในทันทีและไม่ได้แสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันทีเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 วรรคสอง ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ร่วมเสียหลักล้มลงไปจากรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุมิใช่เกิดจากจำเลยไม่หยุดรถที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทางและเข้าเกียร์กระชากอย่างแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่ตามพฤติการณ์น่าจะเกิดจากโจทก์ร่วมเองที่ลงจากรถในขณะที่รถยังเคลื่อนตัว ทำให้โจทก์ร่วมเสียหลักล้มลงไปและได้รับอันตรายแก่กายสาหัสดังที่ได้วินิจฉัยแล้วจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ประกอบมาตรา 157 ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นและจากข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า เมื่อโจทก์ร่วมเสียหลักล้มลงมาจากรถโดยสารประจำทาง ศีรษะของโจทก์ร่วมฟาดกับขอบพื้นทางเท้าและขาข้างซ้ายถูกล้อรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุทับได้รับอันตรายสาหัสในทันที ฉะนั้น การที่จำเลยไม่แสดงตัวและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่ใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 160 วรรคสองดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน