คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1381/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในคดีอาญาที่ พ.เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร โดยบรรยายรายละเอียดข้อความทั้งสิ้นที่จำเลยเบิกความ กับความจริงที่ตรงกันข้ามกับคำเบิกความของจำเลยนั้นเป็นอย่างไร และว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดแต่คดีที่จำเลยเบิกความเท็จนั้นประเด็นสำคัญของคดีคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของ พ. จำเลยคดีนั้นมีอย่างไร โจทก์มิได้บรรยายไว้ ที่อ้างว่าความจริงจำเลยเป็นคนงานของบริษัท พี. ใช้รถตักรถดั๊มขุดตักกะสะ แร่ดีบุกจากที่ดินทั้งสองแปลงแล้วบรรทุกเข้าไปในเหมืองแร่ของบริษัท พี. โจทก์ก็บรรยายให้ทราบแต่เพียงความสัมพันธ์ระหว่าง พ. กับบริษัท พี.เท่านั้น การกระทำของคนงานบริษัท พี. ที่อ้างว่าจำเลยเห็นดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการกระทำของ พ. อย่างไร โจทก์หาได้บรรยายให้ชัดแจ้งไม่ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ไม่ชอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 158(5).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 เวลากลางวันจำเลยได้เบิกความเท็จต่อศาลอาญา ในการพิจารณาคดีอาญาของศาลจังหวัดกาญจนบุรีหมายเลขดำที่ 2799/2526 และหมายเลขดำที่ 266/2526ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์ นายพีรพงศ์เจียรวโรภาส จำเลย ฐานความผิด ร่วมกันทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ซึ่งส่งประเด็นมาสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญา โดยเบิกความในฐานะประจักษ์พยานว่า จำเลยไม่รู้ไม่เห็นเหตุการณ์เลยทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยไม่เคยไปยังที่เกิดเหตุเลย และจำเลยไม่ได้เป็นผู้ให้การในชั้นสอบสวนต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดี ความจริงแล้วจำเลยได้รู้เห็นเหตุการณ์ในคดีดังกล่าวโดยเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2525 จำเลยได้ขับรถยนต์พานายประมวล บัวใหญ่นายขาว พัดเย็นชื่อ และนายบุรี ศรีนคร ไปยังบริเวณเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แปลงที่ 151/2519 ของบริษัทอวนินทร์ จำกัด และแปลงที่75/2522 ของบริษัทอวนินทร์ ตัตถะ จำกัด ซึ่งอยู่ที่ตำบลศรีมงคลอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แล้วร่วมกันแอบดูเห็นคนงานของบริษัท พี.เคไมนิ่ง จำกัด ซึ่งมีนายพีรพงษ์ เจียรวโรภาส เป็นเจ้าของและผู้จัดการ กำลังใช้รถแทรกเตอร์ รถตัก รถดั๊มขุดตักกะสะแร่ดีบุกจากที่ดินทั้งสองแปลง แล้วนำใส่รถดั๋มบรรทุกเข้าไปในเหมืองแร่ของบริษัท พี.เคไมนิ่ง จำกัด ซึ่งจำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนด้วย และข้อความเท็จที่จำเลยเบิกความต่อศาลอาญานี้เป็นข้อสำคัญในคดี โดยจำเลยซึ่งเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวในขณะมีการกระทำผิดซึ่งถ้าจำเลยได้เบิกความตามที่รู้เห็นเหตุการณ์ต่อศาลแล้ว อาจทำให้ศาลพิพากษาลงโทษนายพีรพงศ์ เจียรวโรภาสได้ แต่จำเลยกลับเบิกข้อความอันเป็นเท็จว่าไม่รู้เห็นเหตุการณ์อาจเป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อและพิพากษายกฟ้องคดีโจทก์ในคดีอาญาทั้งสองดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพหมานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้รู้ว่าคดีก่อนมีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าอย่างไร ไม่อาจเข้าใจได้ว่าข้อความเท็จที่หาว่าจำเลยเบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เหตุการณ์ที่จำเลยเห็นแล้วเบิกความว่าไม่เห็นก็ไม่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยในคดีก่อนโดยตรง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จต่อศาลอาญาในการพิจารณาคดีอาญาของศาลจังหวัดกาญจนบุรี หมายเลขดำที่ 2698/2526 และหมายเลขดำที่ 2699/2526ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์ นายพีรพงศ์เจียรวโรภาส จำเลย ฐานความผิด ร่วมกันทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร ซึ่งส่งประเด็นมาสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญาโดยบรรยายรายละเอียดข้อความทั้งสิ้นที่จำเลยเบิกความ กับความจริงที่ตรงกันข้ามกับคำเบิกความของจำเลยนั้นเป็นอย่างไร และว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดี แต่คดีที่จำเลยเบิกความเท็จนั้นประเด็นสำคัญของคดีคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของนายพีรพงศ์จำเลย คดีนั้นมีอย่างไร โจทก์มิได้บรรยายไว้ ที่อ้างว่าความจริงจำเลยเห็นคนงานของบริษัทพี.เคไมนิ่ง จำกัด ใช้รถตัก รถดั๊ม ขุดตักกะสะแร่ดีบุกจากที่ดินทั้งสองแปลงแล้วบรรทุกเข้าไปในเหมืองแร่ของบริษัท พี.เคไมนิ่ง จำกัดโจทก์ก็บรรยายให้ทราบแต่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างนายพีรพงศ์กับบริษัท พี.เคไมนิ่ง จำกัด เท่านั้น การกระทำของคนงานบริษัทพี.เคไมนิ่ง จำกัด ที่อ้างว่าจำเลยเห็นดังกล่าวข้างต้นนั้นจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของนายพีรพงศ์อย่างไร โจทก์หาได้บรรยายให้ชัดแจ้งไม่ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ฟ้องของโจทก์จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share