แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะขับรถจักรยานยนต์โดยประมาท ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายตกจากรถ ศีรษะฟาดพื้นและถึงแก่ความตาย แต่เหตุรถชนกันเกิดขึ้นก็เพราะผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาท ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นสามีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าว และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อนี้และพิพากษาจำคุกจำเลยมาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 11, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายอนัน แก้วคำปอด สามีผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 มาตรา 11, 39 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 12,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 400 บาท ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหาย ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 14,400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 7,200 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว เห็นว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยเพราะเลี้ยวขวาเพื่อจะเข้าบ้านพักอย่างรวดเร็ว โดยไม่ให้สัญญาณไฟ จำเลยซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังในระยะกระชั้นชิด จึงไม่สามารถห้ามล้อได้ทัน ทั้งจำเลยวางเงินบรรเทาผลร้ายต่อศาล 20,000 บาท เพื่อชดใช้ให้แก่โจทก์ (ที่ถูก โจทก์ร่วม) และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และไม่ปรับจำเลยในความผิดฐานนี้รวมกับความผิดฐานอื่นแล้ว คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 1,200 บาท และไม่รอการลงโทษจำคุก คำขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ความผิดต่อพระราชบัญญัติรถยนต์ และความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เห็นว่า ในความผิดฐานนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า แม้จำเลยจะขับรถจักรยานยนต์โดยประมาท พุ่งชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายตกจากรถ ศีรษะฟาดพื้นและถึงแก่ความตาย แต่เหตุรถชนกันเกิดขึ้นก็เพราะผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาท ดังนั้น ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นสามีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าว และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวโดยไม่รอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมข้อนี้และพิพากษาจำคุกจำเลยมาจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และเมื่อโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป”
พิพากษายกคำขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกฎีกาจำเลย