คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 35 ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 34 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทยหรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนี้ เมื่อต้องใช้หลักกฎหมายดังกล่าวปรับแก่คดี แต่จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้ให้เหตุผลในการชี้ขาด โดยมิได้อ้างเหตุต่าง ๆดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้น
ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องค่าใช้จ่ายในการชี้ขาดที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นหนี้เงินและโจทก์ได้ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว หามิใช่เป็นหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมศาล
เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนี้โจทก์จึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงจำเลยเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันผู้ซึ่งไม่ใช่คู่กรณีแม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ตกลงทำสัญญาขายแร่วุลแฟรมให้โจทก์ โจทก์ชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ล่วงหน้าแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยส่งมอบแร่วุลแฟรมที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่ตกลงไว้ในสัญญา โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเรื่องผิดสัญญาแล้ว ต่อมาโจทก์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษตามสัญญา และอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาให้ชดใช้เงิน 213,392.41 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการจำนวน3,393 ปอนด์สเตอร์ลิง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 213,392.41 ดอลลาร์สหรัฐและ 3,393 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวน นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายแร่ตามฟ้อง มีจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วยและอนุญาโตตุลาการมิได้ชี้ขาดให้จำเลยที่ 2 รับผิดด้วย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ถูกต้องแล้ว โจทก์เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอนวินิจฉัยโดยไม่ชอบเนื่องจากไม่มีการผิดสัญญาจึงไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด คำชี้ขาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อข้อบังคับและระเบียบของตลาดโลหะกรุงลอนดอนเนื่องจากไม่ได้ให้เหตุผลแห่งการชี้ขาด โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้าฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 213,392.41 ดอลลาร์สหรัฐ และ 3,393 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 180,817.57 ดอลลาร์สหรัฐและ 3,393 ปอนด์สเตอร์ลิง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ศาลพิพากษา แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน25.45 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 36.98 บาท ต่อปอนด์สเตอร์ลิง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ประเทศไทยและประเทศอังกฤษต่างเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือ และการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายแร่วุลแฟรมให้โจทก์ หากมีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการในกรุงลอนดอนตามกฎระเบียบของตลาดโลหะกรุงลอนดอน โจทก์ชำระราคาสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ล่วงหน้าแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาโจทก์จึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้พิจารณาตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายและใช้ค่าอนุญาโตตุลาการแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตาม

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 บัญญัติไว้ในมาตรา 35 ว่า “ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 34 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทยหรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ” เนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ จึงต้องใช้หลักกฎหมายดังกล่าวปรับแก่คดี คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การตามคำให้การข้อ 4มีใจความสรุปว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้ให้เหตุผลในการชี้ขาด จะเห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมิได้อ้างเหตุต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเลย ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้น

จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อมาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการเป็นการไม่ชอบเพราะเป็นเงินค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามเอกสารหมาย จ.4 หน้าที่ 5 หัวข้อเรื่องค่าใช้จ่ายในการชี้ขาด ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นหนี้เงินและโจทก์ได้ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว หาใช่เป็นหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่

จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อมาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หาใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการส่งมอบของไม่ตรงตามคำพรรณนาซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 504 ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงจำเลยเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง มิใช่นับแต่วันส่งมอบสินค้า

จำเลยทั้งสองฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งมีแต่จำเลยที่ 1เป็นคู่กรณี คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่กรณีแม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อโจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share