คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7115/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยประกอบกิจการโรงงานผลิตสี น้ำมันวานิชแลคเกอร์ หมึกพิมพ์ทุกชนิด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจำหน่ายการที่จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ครั้งละมาก ๆ และเป็นเงินจำนวนมากแสดงว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ไปเพื่อผลิตสินค้าดังกล่าวเพื่อจำหน่ายและขาย มิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลย กรณีย่อมตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 193/33(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์ 27 ครั้ง เป็นเงิน 1,040,801.84 บาท เพื่อใช้ประกอบในธุรกิจอุตสาหกรรมของจำเลยและจำเลยได้รับสินค้าครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยมิได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง514,851.29 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าตามที่โจทก์บรรยายฟ้องโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงให้มีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ โจทก์ไม่นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระเงินค่าสินค้าในแต่ละครั้ง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความเพราะจำเลยซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์จากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าของจำเลยอันเป็นกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลย จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(1) เห็นว่ามาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม…เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบปรากฏว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการซื้อ ขาย สั่งเข้ามา และส่งออกไป รวมทั้งการซื้อขายในประเทศซึ่งสินค้าทุกชนิด ซึ่งรวมทั้งเคมีภัณฑ์ทุกชนิด ส่วนจำเลยเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการจัดตั้งโรงงานผลิตสี น้ำมันวานิช แลคเกอร์ หมึกพิมพ์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาแล้วทุกชนิดเพื่อจำหน่ายและเพื่อขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 จำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์ครั้งละ 12,000 กิโลกรัม รวม 16 ครั้ง รวมค่าสินค้าที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์ทั้งหมด 27 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,040,801.84 บาทจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน (เท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี)นับแต่วันผิดนัดชำระค่าสินค้าแต่ละรายการ คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย514,851.29 บาท รวมเป็นเงิน 1,555,653.13 บาท จำเลยไม่สืบพยานหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ การที่จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ครั้งละมาก ๆ และเป็นเงินจำนวนมาก แสดงว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ไปเพื่อผลิตสี น้ำมันวานิช แลคเกอร์ หมึกพิมพ์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจำหน่ายและเพื่อขาย มิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลย กรณีย่อมตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็ย่อมมีกำหนด 5 ปี มิใช่ 2 ปี ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2540 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ กรณีดังกล่าวเป็นการแปลกฎหมายคลาดเคลื่อนของศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเอกสารหมาย จ.7 เป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,555,653.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,040,801.84 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share