แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 1 มิถุนายน 2542 การนับอายุความต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ที่มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และเมื่อวันเริ่มต้นนับระยะเวลาเป็นวันที่ 2 มิถุนายน 2542 กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคหนึ่ง ที่คำนวณเดือนตามปีปฏิทิน เมื่อระยะเวลามิได้กำหนดนับตั้งแต่วันต้นแห่งเดือน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคสอง ที่ให้ถือระยะเวลาสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น เมื่อวันเริ่มระยะเวลาคือวันที่ 2 มิถุนายน 2542 ระยะเวลาสิ้นสุดลงก่อนหน้าวันจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นคือวันที่ 1 กันยายน 2542 ที่จำเลยอ้างว่าคดีครบกำหนดอายุความวันที่ 31 สิงหาคม 2542 จึงหาถูกต้องไม่ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2541 จำเลยออกเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สาขาขอนแก่น ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 สั่งจ่ายเงินจำนวน 186,647.49 บาท เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือตามหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ครั้นเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 โดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” การกระทำของจำเลยเป็นเป็นการออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำคุก 2 เดือน
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า เช็คพิพาทธนาคารปฏิเสธจ่ายเงินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 จึงครบกำหนดอายุความ 3 เดือน ในวันที่ 31 สิงหาคม 2542 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 1 กันยายน 2542 จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ในการนับอายุความ กรณีเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ที่มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน การที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 1 มิถุนายน 2542 อายุความในคดีนี้จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และเมื่อวันเริ่มต้นนับระยะเวลาเป็นวันที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 193/5 วรรคหนึ่ง ที่ให้คำนวณเดือนตามปีปฏิทิน ที่จำเลยอ้างว่าคดีครบกำหนดอายุความในวันที่ 31 สิงหาคม 2542 จึงหาถูกต้องไม่ และเมื่อระยะเวลามิได้กำหนดนับตั้งแต่วันต้นแห่งเดือน คือมิได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 193/5 วรรคสอง ที่ให้ถือระยะเวลาสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อวันเริ่มระยะเวลาคือวันที่ 2 มิถุนายน 2542 ระยะเวลาสิ้นสุดลงก่อนหน้าวันจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นก็คือวันที่ 1 กันยายน 2542 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาปัญหาตามประเด็นในข้อวินิจฉัยไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีหรือไม่เพียงใด โดยจำเลยอ้างว่า เมื่อได้ความว่าหนังสือรับสภาพหนี้มีการเพิ่มข้อความในภายหลังจึงควรถือว่าเป็นเอกสารปลอม และหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีการชำระหนี้ไปแล้วนั้น เห็นว่า คดีได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นายธัชพล บิดาจำเลยเป็นหนี้ค้างชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่รับจากลูกค้าโจทก์ต่อโจทก์จึงทำสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งมีข้อความตรงตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 จำเลยก็เบิกความรับว่า นายธัชพล เป็นหนี้ และมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 ไว้จริง ได้ความตามคำเบิกความของนางสาวผจงจิตต์ พยานโจทก์ว่า การชำระหนี้ของนายธัชพลตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 มีจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทไว้ชำระหนี้ แต่ในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 ยังไม่มีการกรอกข้อความเกี่ยวกับเช็คเพราะนายธัชพลยังมิได้มอบเช็คให้โจทก์ ต่อมาวันรุ่งขึ้นนายธัชพลมอบเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์แล้ว จึงได้มีการกรอกข้อความรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คในข้อ 3.1 ถึง 3.3 ไว้ในเอกสารหมาย จ.4 จำเลยเองก็เบิกความรับว่า ได้อยู่รู้เห็นในขณะทำเอกสารหมาย จ.4 แสดงว่า หนังสือรับสภาพหนี้มีการทำขึ้นโดยความสมัครใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในสัญญา เมื่อการลงรายละเอียดแห่งข้อสัญญายังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์มีการลงรายการเพิ่มเติมจนครบข้อสัญญาในเวลาต่อมา จึงเป็นการดำเนินการจัดทำสัญญาไปตามเจตนาของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 จึงสมบูรณ์หาเป็นเอกสารปลอมไม่ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีการชำระไปแล้วบางส่วนตามเช็คเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8 นั้น เห็นว่า เช็คดังกล่าวลงวันที่ก่อนวันที่การจัดทำหนังสือรับสภาพหนี้ ทั้งได้ความว่านายธัชพลเป็นหนี้โจทก์หลายจำนวน หากนายธัชพลประสงค์จะใช้เช็คตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8 ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.4 ก็ควรมีการระบุแจ้งไว้ในเอกสารหมาย จ.4 ด้วย พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่นายธัชพลเป็นหนี้โจทก์ ได้มอบเช็คตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8 ให้โจทก์และโจทก์ได้นำขึ้นเรียกเก็บเงินได้แล้ว และได้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 มีการนำเช็คพิพาทอันเป็นเช็คชุดใหม่มามอบให้โจทก์อีกแสดงว่าเช็คตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8 มุ่งในการนำไปชำระหนี้จำนวนอื่น หาใช่หนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่ ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่าเช็คตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเช็คประกันหนี้สินหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ของนายธัชพลกับโจทก์เป็นการมุ่งชำระที่มีต่อกันตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 ดังปรากฏจากการที่โจทก์เมื่อทราบว่านายธัชพลมิได้นำส่งเบี้ยประกันที่ลูกค้าโจทก์มอบให้โจทก์ผ่านนายธัชพล โจทก์กับนายธัชพล ได้ทำสัญญากันโดยนายธัชพลได้นำเช็คของจำเลยไปมอบให้โจทก์ ดังปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.8 และโจทก์ก็ได้นำเช็คขึ้นเรียกเก็บเงินทันที เมื่อต่อมานายธัชพลนำเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.5 มอบให้โจทก์ เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คโจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินทันที ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.6 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การออกเช็คหมาย จ.5 มีเจตนาเพื่อชำระหนี้ที่นายธัชพลมีต่อโจทก์ หาใช่เป็นการออกเช็คเพื่อประกันหนี้ของนายธัชพลไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุปรานีลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า จำเลยออกเช็คชำระหนี้เป็นเงินจำนวนสูง ทั้งเป็นหนี้ที่เกิดจากการผิดหน้าที่ที่บิดาของจำเลยมีต่อโจทก์ เมื่อเกิดการกระทำผิดแล้วก็หาได้สำนึกในการกระทำ ไม่คิดจะเยียวยาความเสียหายของโจทก์ตามความเสียหายที่แท้จริง ทั้งหาได้เยี่ยวยาความเชื่อถือของจำเลยและบิดาที่ต้องเสียหายจากการบกพร่องในการดำเนินการเกี่ยวกับการเงินที่ได้รับความไว้วางใจจากโจทก์ แต่กลับอ้างเหตุบ่ายเบี่ยงปฏิเสธความรับผิดตลอดมา พฤติการณ์ไม่มีเหตุอันควรลดโทษหรือปราณีรอการลงโทษ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน