คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมิได้จัดทำข้อตกลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันจ่ายค่าจ้างจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกา ตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมาโดยลูกจ้างของจำเลยไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จึงถือได้ว่ากำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกา เป็นสภาพการจ้างที่มีผลผูกพันจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างมาเป็นระหว่างเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวและถือไม่ได้ว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าสภาพการจ้างเดิมจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง การเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 20
การที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานของผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของจำเลยเพื่อสอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างและขอใบอนุญาตผ่านออกจากอาคารที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานไปเจรจากับฝ่ายการเงินที่อยู่ในอีกอาคารหนึ่งเพื่อให้จ่ายค่าจ้างในเวลาเดิมตามสภาพการจ้างที่ปฏิบัติกันมาย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ มิใช่กรณีที่ลูกจ้างจะต้องร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 50 วรรคสอง แม้ขณะที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานดังกล่าวจะเป็นเวลาการทำงาน ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

ย่อยาว

โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินประกันและเงินโบนัสตามฟ้องแต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสาม

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินประกัน และเงินโบนัสตามบัญชีท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวสำหรับค่าชดเชยของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2541 โจทก์ที่ 23 นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2541 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ที่ 23 นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 เงินประกันการทำงานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 22 นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ที่ 23 นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2541 และเงินโบนัสของโจทก์ทั้งหมดนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสาม

จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปพบนายจรินทร์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของจำเลยเพื่อสอบถามเกี่ยวกับกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างนั้นฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ คำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้จัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นหนังสือ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อถึงวันจ่ายค่าจ้างจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกา ตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา โดยลูกจ้างของจำเลยไม่เคยโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงถือได้ว่ากำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 15 ถึง 17 นาฬิกาเป็นสภาพการจ้างที่มีผลผูกพันจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทั้งหมด การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างมาเป็นระหว่างเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกานั้น ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวและยังถือไม่ได้ว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าสภาพการจ้างเดิม จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการจ่ายค่าจ้างมาเป็นระหว่างเวลา 12 ถึง 13 นาฬิกา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและทางนำสืบของโจทก์ทั้งยี่สิบสามกับจำเลยว่าการที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานของนายจรินทร์ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของจำเลยก็สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งยี่สิบสามต้องการสอบถามนายจรินทร์ถึงการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างและขอใบอนุญาตผ่านออกจากอาคารที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานไปเจรจากับฝ่ายการเงินที่อยู่ในอีกอาคารหนึ่งเพื่อให้จ่ายค่าจ้างในเวลาเดิมตามสภาพการจ้างที่ปฏิบัติกันมาซึ่งย่อมเป็นสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ การกระทำดังกล่าวยังมิใช่กรณีที่ลูกจ้างจะต้องร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 50 วรรคสองตามที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด และแม้ว่าขณะที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าไปในห้องทำงานของนายจรินทร์จะเป็นเวลาการทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบสามก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการทำงานและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามหรือไม่ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยอ้างเหตุที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการทำงานเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมสืบเนื่องมาจากสาเหตุการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งยี่สิบสามตามที่จำเลยอุทธรณ์ข้างต้นนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ได้วินิจฉัยในอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้วว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสามมิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยกล่าวหาจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษา

Share