คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5221/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โรงงานของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่ประกอบการที่ให้ลูกจ้างทำงานมีสารเคมีฝุ่นฝ้ายดิบฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศของการทำงานเกินกว่าระดับมาตรฐานจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2520 จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อลดความเข้มข้นของสารเคมีฝุ่นฝ้ายดิบมิให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์แต่ละคนทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 มานานและได้รับฝุ่นฝ้ายจนเป็นโรคบิสสิโนซิสเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย ถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่ละคน ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับคือวันที่ 8 มกราคม 2521 หรือวันที่โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานหลังจากวันที่ 8 มกราคม 2521 ซึ่งถือเป็นวันที่การละเมิดได้เกิดขึ้นและได้กระทำละเมิดตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์แต่ละคนออกหมายหรือจนถึงวันฟ้องแล้วแต่กรณี โรงงานของจำเลยที่ 1 จึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอันเป็นเหตุโดยตรงให้โจทก์แต่ละคนเป็นโรคบิสสิโนซิสหรือได้รับอันตรายแก่กายหรือสุขภาพอนามัย เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 มิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษจึงต้องถือว่าเป็นผู้อื่นตามความหมายของมาตรา 96 ดังกล่าว และการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้นก็ไม่จำต้องรั่วไหลหรือแพร่กระจายออกไปนอกโรงงานของจำเลยที่ 1 แม้ฝุ่นฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุอันตรายและเป็นมลพิษจะรั่วไหลหรือแพร่กระจายภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 ก็ถือว่าเป็นการแพร่กระจายของมลพิษตามความหมายของมาตรา 96 แล้วเช่นกัน จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38

ย่อยาว

คดีทั้งสามสิบเจ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 10703/2538 ของศาลแรงงานกลางโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 และเรียกโจทก์ในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ที่ 18 แต่คดีของโจทก์ที่ 18 ถึงที่สุดไปแล้ว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 ฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์แต่ละคนเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมีวันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่การงาน และอัตราค่าจ้างตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปั่นด้ายและทอผ้า ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบดูแลของจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการ ในกระบวนการผลิตเส้นด้ายและทอผ้า จำเลยที่ 1 จะให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำก้อนฝ้ายชนิดต่าง ๆ มาฉีกออกและผสมใส่ในรางตีฝ้ายปั่นให้เป็นเส้นด้ายแล้วทอเป็นผืนผ้าด้วยเครื่องจักร โดยลูกจ้างเป็นผู้ควบคุมอยู่ในอาคารในโรงงานของจำเลยที่ 1 อาคารดังกล่าวเป็นอาคารปิดทึบใช้แสงสว่างจากไฟฟ้าในการทำงาน กระบวนการผลิตเส้นด้ายและทอผ้าดังกล่าวจะมีฝุ่นฝ้ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน และกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดให้นายจ้างต้องมีหน้าที่ดำเนินการมิให้เกิดภาวะแวดล้อมในการทำงานที่อาจเป็นอันตรายแก่ลูกจ้าง เช่น ไม่ให้มีเส้นใยฝุ่นฝ้ายละอองที่เป็นอันตรายรวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปริมาณและอันตรายของสิ่งเหล่านั้น และจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยให้แก่คนงานอย่างได้มาตรฐานและเพียงพอ จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยจำเลยทั้งสองจะต้องดำเนินการป้องกันมิให้ฝุ่นฝ้ายในโรงงานของจำเลยที่ 1 เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด มิให้โรงงานเป็นแหล่งมลพิษ จัดให้มีเครื่องป้องกันอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือร่างกายของลูกจ้างและต้องจัดให้มีเครื่องป้องกันอันตรายจากฝุ่นฝ้ายที่มีประสิทธิภาพให้แก่ลูกจ้างอย่างเพียงพอ เพื่อมิให้เกิดอันตรายดังกล่าวต่อลูกจ้าง แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 สหภาพแรงงานของลูกจ้างจำเลยที่ 1 และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เคยขอหรือสั่งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขปรับปรุงและปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ โดยจำเลยทั้งสองไม่สนใจว่าสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อย่างไรมุ่งที่จะแสวงหากำไรจากกิจการแต่ฝ่ายเดียว เป็นผลให้โจทก์แต่ละคนและลูกจ้างอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ป่วยเป็นโรคบิสสิโนซิส การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์แต่ละคนและลูกจ้างอื่น ๆ โดยผิดกฎหมาย หรือการบริหารและจัดการโรงงานของจำเลยที่ 1 ในลักษณะที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่ละคนและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์แต่ละคนได้รับความเสียหายแก่ร่างกายและสุขภาพอนามัย เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่ละคน โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์แต่ละคนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนั้นจำเลยทั้งสองยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นต้นด้วย เมื่อโจทก์แต่ละคนทำงาน เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องสูดเอาฝุ่นฝ้ายเข้าไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาก็พบว่าโจทก์แต่ละคนเริ่มมีอาการเจ็บป่วยบ่อย ๆ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จึงได้เริ่มรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยดังกล่าวโดยซื้อยามารับประทานเองบ้าง ได้รับการตรวจจากแพทย์ตามคลินิกหรือตามโรงพยาบาลบ้าง แต่อาการป่วยดังกล่าวก็ไม่หาย กลับมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น จึงได้ทำการตรวจรักษาที่คลินิกอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลราชวิถี แพทย์ได้ตรวจร่างกายของโจทก์แต่ละคนและวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคบิสสิโนซิสดังที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 เนื่องจากโจทก์แต่ละคนได้สูดหายใจเอาฝุ่นฝ้ายจากการทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 เข้าไปเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานในขณะที่ปฏิบัติงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งนอกจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 แล้ว ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 คนอื่น ๆ ประมาณ 200 คน ก็มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคบิสสิโนซิสเช่นกัน ดังนั้นโจทก์แต่ละคนและลูกจ้างอื่นประมาณ 130 คน จึงได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทน ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยว่า โจทก์แต่ละคนและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวป่วยเป็นโรคบิสสิโนซิสอันเนื่องจากการทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 จริง และวินิจฉัยให้โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่ละคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตลอดมาแล้ว เมื่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีผลใช้บังคับ จำเลยทั้งสองก็ยังมิได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมดังกล่าวในโรงงาน โรงงานของจำเลยที่ 1 ยังมีฝุ่นฝ้ายซึ่งเป็นมลพิษและวัตถุอันตราย เป็นอันตรายต่อโจทก์แต่ละคนและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดมา โรงงานจำเลยที่ 1 จึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษฝุ่นฝ้ายอันเป็นเหตุให้โจทก์แต่ละคนและลูกจ้างอื่นของจำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายแก่ชีวิตร่างกายหรือสุขภาพอนามัย คือทำให้โจทก์แต่ละคนป่วยเป็นโรคบิสสิโนซิส ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ จำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการดำเนินการของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์แต่ละคน ไม่ว่าการรั่วไหลหรือการกระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองหรือไม่ก็ตาม การกระทำและละเว้นการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้โจทก์แต่ละคนได้รับความเสียหายหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือขาดรายได้ไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนเพื่อสุขภาพอนามัย และค่าขาดไร้อุปการะของคนในครอบครัว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อความเสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน ให้จำเลยทั้งสองแก้ไขโรงงานให้อยู่ในสภาพปลอดภัยจากมลภาวะภายในเวลาที่ศาลกำหนดแล้วรายงานให้ศาลทราบเป็นระยะพร้อมคำรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่และให้จำเลยทั้งสองเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีกับวัตถุอันตรายพร้อมทั้งมาตรการในการป้องกันให้ศาลทราบเป็นระยะ
จำเลยทั้งสองทั้งสามสิบเจ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 และยกคำขออื่นของโจทก์ทุกสำนวนด้วย
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 และจำเลยทั้งสองทั้งสามสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 กับจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ผ้าปิดจมูกที่จำเลยที่ 1 จัดให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ใช้ในโรงงานของจำเลยที่ 1 ได้มาตรฐานตามที่ทางราชการกำหนดหรือไม่ จำเลยที่ 1 ออกระเบียบให้พนักงานสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะทำงานหรือไม่ และคอยควบคุมดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด และหากจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวการละเมิดได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด สิ้นสุดลงเมื่อใด โจทก์ดังกล่าวได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เมื่อใด แล้วพิพากษาคดีใหม่เฉพาะคู่ความดังกล่าวตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 กับจำเลยทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 กับจำเลยทั้งสองได้นำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 กับจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต่อไป และพิพากษาคดีใหม่เฉพาะคู่ความดังกล่าวตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละคน โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ดังนี้ โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 95,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 95,000 บาท โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 25 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 27 เป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 28 เป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 29 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 30 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 31 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 32 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 33 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 34 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 35 เป็นเงิน 110,000 บาท โจทก์ที่ 36 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 37 เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์ที่ 38 เป็นเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 พฤษภาคม 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนดังกล่าว คำขออื่นของโจทก์แต่ละคนนอกจากนี้ให้ยกเสียทั้งสิ้น
จำเลยทั้งสองทั้งสามสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โรงงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบการที่ให้ลูกจ้างทำงาน มีสารเคมีฝุ่นฝ้ายดิบฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศของการทำงานเกินกว่า 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร อยู่หลายจุด โรงงานของจำเลยที่ 1 จึงมีภาวะแวดล้อมที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2520 ตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และโจทก์แต่ละคนทำงานมาจนถึงวันที่ออกจากงานหรือวันที่ฟ้อง (วันที่ 9 พฤษภาคม 2538) แล้วแต่กรณี และฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงเพื่อลดความเข้มข้นของสารเคมีฝุ่นฝ้ายดิบมิให้เกินกว่าที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ไม่สามารถลดปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีฝุ่นฝ้ายดิบมิให้เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้ จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างจึงมิได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และข้อ 11 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2520 ตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างและโจทก์แต่ละคนทำงานมาจนถึงวันที่ออกจากงานหรือวันที่ฟ้องแล้วแต่กรณี โจทก์แต่ละคนทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 มานาน และได้รับฝุ่นฝ้ายจนเป็นโรคบิสสิโนซิสเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย และถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่ละคนตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวข้างต้นมีผลใช้บังคับคือวันที่ 8 มกราคม 2521 หรือวันที่โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานหลังจากวันที่ 8 มกราคม 2521 ซึ่งถือเป็นวันที่การละเมิดได้เกิดขึ้นและได้กระทำละเมิดตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์แต่ละคนออกจากงานหรือจนถึงวันที่ฟ้องแล้วแต่กรณีซึ่งถือเป็นวันที่สิ้นสุดการละเมิด นอกจากนี้ยังฟังข้อเท็จจริงอีกว่า จำเลยที่ 1 เป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ประกอบกิจการทอผ้าซึ่งเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นฝ้ายอันถือได้ว่าเป็นวัตถุอันตรายและเป็นมลพิษประการหนึ่ง โรงงานของจำเลยที่ 1 จึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุโดยตรงให้โจทก์แต่ละคนเป็นโรคบิสสิโนซิสหรือได้รับอันตรายแก่กายหรือสุขภาพอนามัย ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 มิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ จึงต้องถือว่าเป็นผู้อื่นตามความหมายของมาตรา 96 ดังกล่าว และการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นก็ไม่จำต้องรั่วไหลหรือแพร่กระจายออกไปนอกโรงงานของจำเลยที่ 1 แม้ฝุ่นฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุอันตรายและเป็นมลพิษจะรั่วไหลหรือแพร่กระจายภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 ก็ถือว่าเป็นการแพร่กระจายของมลพิษตามความหมายของมาตรา 96 แล้วเช่นกัน จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 และที่ 19 ถึงที่ 38 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน

Share