แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้มีใจความว่าจำเลยยอมให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าซึ่งเป็นของโจทก์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยจะขนย้ายบริวารออกไปและส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนแก่โจทก์ภายในกำหนดดังนี้ เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วยังมีผู้อยู่อาศัยในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีแก่ผู้อยู่อาศัยในฐานะบริวารของจำเลยได้ตามสิทธิของโจทก์ในคดีนี้ ส่วนการที่โจทก์สามารถใช้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความอีกข้อหนึ่งที่อาจเข้าร่วมหรือรับสิทธิของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่บุคคลอื่นออกจากอาคารในที่ดินของโจทก์นั้น ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ในอีกทางหนึ่งที่โจทก์อาจเลือกใช้ได้ แต่ไม่จำกัดสิทธิของโจทก์ที่จะขอบังคับคดีในคดีนี้เมื่อมีผู้ร้องหลายรายยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าตนมิใช่บริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งไปตามรูปคดี เพราะศาลชั้นต้นในคดีนี้กับศาลชั้นต้นในคดีอีก 3 สำนวน ก็คือ ศาลชั้นต้นศาลเดียวกัน ทั้งมิใช่การขอบังคับคดีในคดีอีก 3 สำนวนดังกล่าว การที่จะให้ผู้ร้องทุกรายไปยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษในคดีอีก 3 สำนวน โดยที่ยังมิได้มีการออกหมายบังคับคดีในคดีเหล่านั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าที่ดินต่างตอบแทนและสัญญาซื้อขายอาคาร โจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วจะให้จำเลยชำระค่าเสียหายแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินฉบับลงวันที่20 มีนาคม 2532 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครฯ กับโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยขนย้ายบริวารออกจากที่ดินที่เช่า จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคู่ความตกลงกันได้ โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและออกคำบังคับให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 จำเลยต้องดำเนินการให้ผู้เช่าที่ดินและอาคารเดิมออกจากสถานที่เช่า แม้คดีที่ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมจะอยู่ในชั้นศาลใดและขั้นตอนใด จำเลยจะให้ความร่วมมือต่อโจทก์เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยความเรียบร้อยถึงที่สุดทุกคดี ในกรณีจำเป็น จำเลยจะโอนสิทธิหรือมอบอำนาจหรือยอมให้โจทก์ดำเนินคดีร่วมด้วย ซึ่งคดีที่จำเลยฟ้องผู้เช่าที่ดินและอาคารเดิมคือ คดีหมายเลขแดงที่ 3126/2537 ของศาลชั้นต้นระหว่างบริษัท เอ อาร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัดโจทก์ นางชื่นฤดี เย็นใจประเสริฐ จำเลย ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารที่เช่า พร้อมให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว อยู่ระหว่างการบังคับคดีคดีหมายเลขแดงที่ 8823/2534 ของศาลชั้นต้น ระหว่างบริษัท เอ อาร์ ดีเวลล็อปเม้นท์จำกัด โจทก์ นางสาวสุมล อมรประภาศิริ จำเลย ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารที่เช่า พร้อมให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว อยู่ระหว่างการบังคับคดีและคดีหมายเลขแดงที่ 27451/2536 ของศาลชั้นต้นระหว่างบริษัท เอ อาร์ ดี เวลล็อปเม้นท์ จำกัด โจทก์ นางจินตนา ศรีโสภาคย์ จำเลย ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารที่เช่า พร้อมให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว อยู่ระหว่างการบังคับคดี ปรากฏว่า จำเลยไม่ให้ความร่วมมือแก่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยในคดีดังกล่าวและบริวารให้ออกจากอาคารที่เช่า ทั้งไม่โอนสิทธิหรือมอบอำนาจหรือให้โจทก์เข้าร่วมบังคับคดีด้วย ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ดำเนินการบังคับคดีดังกล่าวแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำร้องของโจทก์
นางสาวสุมล อมรประภาศิริ และนายเล็ก ตันติพงศ์มงคล ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิอาศัยในอาคารเลขที่ 646/3 แขวงถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพฯเพราะผู้ร้องทั้งสองเช่าจากโจทก์ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่ใช่บริวารของจำเลย ขอให้งดการบังคับคดีเกี่ยวกับอาคารดังกล่าว
นางกรรณิกา โกสินทรกุล ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้เช่าอาคารเลขที่ 644/1-2 แขวงถนนบุรี เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ครั้นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินและขายอาคารดังกล่าวให้จำเลย จำเลยฟ้องผู้ร้องแต่ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องเองก็ฟ้องโจทก์จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้โจทก์จดทะเบียนการเช่าอาคารดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 เมื่อครบกำหนดการเช่าตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ผู้ร้องยังคงเช่าอาคารดังกล่าวต่อมาโดยไม่มีกำหนดเวลา ผู้ร้องจึงไม่ใช่บริวารจำเลย ขอให้งดการบังคับคดีเกี่ยวกับอาคารดังกล่าว
นางโปเง็ก แซ่แต้ หรือนางมุกดา องค์วรวิเศษ ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้เช่าอาคารเลขที่ 644/4-5 แขวงถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ครั้นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินและขายอาคารดังกล่าวให้จำเลย จำเลยฟ้องผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องต่อสู้คดีจนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลแล้ว ต่อมาผู้ร้องฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญาเช่าทรัพย์แต่ได้ถอนฟ้องไป โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ร้องเช่าอาคารดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ต่อจากนั้นเป็นการเช่าโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ผู้ร้องจึงไม่ใช่บริวารจำเลย ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีเกี่ยวกับอาคารดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ชอบที่จะนำหมายบังคับคดีในคดีนี้เข้าสวมสิทธิของจำเลยไปดำเนินการบังคับคดีโดยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 3126/2537 คดีหมายเลขแดงที่ 8823/2534 และคดีหมายเลขแดงที่ 27451/2536 ซึ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาตัดสินคดีในชั้นต้น มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีทั้งสามดังกล่าว จึงไม่รับคำร้องของผู้ร้องทั้งสามด้วย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คืนค่าคำร้องให้ผู้ร้องทั้งสามค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะขอให้บังคับคดีแก่บริวารของจำเลยในคดีนี้โดยไม่ต้องไปสวมสิทธิของจำเลยในคดีทั้งสามสำนวนของศาลชั้นต้นที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยในคดีดังกล่าวนั้นได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้มีใจความสำคัญว่า จำเลยยอมให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าซึ่งเป็นของโจทก์นั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยจะขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินที่เช่าและส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2539 ดังนี้ เมื่อล่วงพ้นเวลาดังกล่าวแล้วยังมีผู้อยู่อาศัยในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีแก่ผู้อยู่อาศัยดังกล่าวในฐานะบริวารของจำเลยได้ตามสิทธิของโจทก์ในคดีนี้ดังที่ศาลชั้นต้นก็ได้ออกหมายบังคับคดีให้โจทก์แล้ว ส่วนการที่โจทก์สามารถใช้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความอีกข้อหนึ่งที่อาจเข้าร่วมหรือรับสิทธิของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่บุคคลอื่นนอกจากอาคารในที่ดินของโจทก์นั้นย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ในอีกทางหนึ่งที่โจทก์อาจเลือกใช้ได้ตามแต่โจทก์จะเห็นสมควร แต่ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะจำกัดสิทธิของโจทก์ที่จะขอบังคับคดีในคดีนี้ เมื่อมีผู้ร้องหลายรายยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าตนมิใช่บริวารของจำเลย เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีนี้ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ยื่น ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งไปตามรูปคดีเพราะศาลชั้นต้นในคดีนี้กับศาลชั้นต้นในคดีอีก 3 สำนวน ตามที่โจทก์อ้างถึงก็คือศาลชั้นต้นศาลเดียวกัน ทั้งมิใช่การขอบังคับคดีในคดีอีก 3 สำนวนดังกล่าว แต่เป็นการขอบังคับคดีในคดีนี้ การที่จะให้ผู้ร้องทุกรายไปยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษในคดีอีก3 สำนวนดังกล่าวโดยที่ยังมิได้มีการออกหมายบังคับคดีในคดีเหล่านั้นย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3)และการไต่สวนในคดีนี้เพื่อวินิจฉัยว่า ผู้ร้องแต่ละรายอยู่ในฐานะบริวารของจำเลยหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เพราะเป็นการไต่สวนในคดีเดียวแทนที่จะต้องแยกไปไต่สวนในคดีอีก 3 สำนวน เป็นรายคดีไป ทั้งข้ออ้างตามคำร้องของผู้ร้องแต่ละรายก็เป็นการยกข้ออ้างขึ้นต่อสู้กับโจทก์ในทำนองเดียวกันทั้งสิ้น คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทุกรายแล้วมีคำสั่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่”