คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7100/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องหมายถึงยกฟ้องโจทก์ร่วมด้วย เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีโจทก์ร่วมจึงยุติ โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยการใช้จ้างวานให้นายศราวุธติดต่อหาผู้มีชื่อฆ่าผู้เสียหายโดยให้ค่าจ้าง 60,000บาท จำเลยพานายศราวุธไปดูสถานที่ที่จะให้ผู้มีชื่อยิงผู้เสียหายหลายครั้ง แต่ไม่อาจลงมือกระทำความผิดได้เนื่องจากไม่มีโอกาสและผู้เสียหายระมัดระวังตัว ทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความคุ้มครอง ผู้เสียหายจึงไม่ถูกฆ่าสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 84

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางสาววรลักษณ์ กังสะวิบูลย์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ก็หมายถึงยกฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีของโจทก์ร่วมจึงยุติลง โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาก็ตาม ฎีกาของโจทก์ร่วมก็เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม

Share