แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัดถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างได้ เนื่องจากผู้คัดค้านต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070,1077(2) ผู้คัดค้านจึงไม่อาจต่อสู้คดีหรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือพิสูจน์ว่าตนมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดและผู้คัดค้านเด็ดขาดโดยอ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดและผู้คัดค้านมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเด็ดขาด แต่ยกฟ้องผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ให้ผู้คัดค้านล้มละลายต่อมาศาลพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำร้องขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำฟ้องและคำร้องขออาศัยเหตุต่างกันจึงมิใช่ฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดในหนี้สินของห้าง มิใช่เป็นหนี้สินส่วนตัวของผู้คัดค้าน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชำระหนี้แก่โจทก์วันที่ 22 มิถุนายน 2531 และโจทก์ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นคดีล้มละลายวันที่ 20 เมษายน 2541 ยังไม่พ้น 10 ปีนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งย่อมทำให้อายุความหนี้ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ดังนั้นเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างดังกล่าว คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายจึงไม่ขาดอายุความ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเด็ดขาดแล้วพิพากษาให้ล้มละลายตามห้างนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 89 โดยไม่จำต้องวินิจฉัยถึงเหตุตามมาตรา 9
ย่อยาว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นเด็ดขาด และต่อมาเมื่อวันที่ 5กรกฎาคม 2543 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 61 ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นจึงขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดการไต่สวน นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 89
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้คัดค้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้คัดค้านมีสิทธินำสืบพยานว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่” คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติแล้วว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่น และห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามห้างได้ เนื่องจากผู้คัดค้านต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1070, 1077(2) ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจต่อสู้คดีหรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นหรือพิสูจน์ว่าตนมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ปัญหาวินิจฉัยในประการที่สองมีว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นและผู้คัดค้านเด็ดขาด โดยอ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นและผู้คัดค้านมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นเด็ดขาด แต่ยกฟ้องผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ให้ผู้คัดค้านล้มละลาย ต่อมาศาลพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงอาศัยเหตุต่างกัน การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องดังกล่าวจึงมิใช่ฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153
ปัญหาวินิจฉัยในประการที่สามมีว่า คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขาดอายุความหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่น ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2531 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2544เกินกว่า 10 ปี แล้ว คดีจึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นในหนี้สินของห้างดังกล่าว กรณีมิใช่หนี้สินส่วนตัวของผู้คัดค้าน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นชำระหนี้แก่โจทก์วันที่22 มิถุนายน 2531 และโจทก์ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นเป็นคดีล้มละลายวันที่ 20 เมษายน 2541 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง ย่อมมีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างดังกล่าวดังที่วินิจฉัยข้างต้น ซึ่งเป็นวิธีจัดการเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของห้างนั้นชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้างตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยชอบ คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการสุดท้ายมีว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9(2) ซึ่งใช้บังคับในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายนั้นได้แก้ไขจำนวนหนี้เป็นไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท แต่คดีนี้เป็นหนี้เพียง 150,000 บาท ส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นดอกเบี้ย ผู้คัดค้านจึงไม่ควรล้มละลายนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดปุกคอเลคชั่นถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเด็ดขาดแล้วพิพากษาให้ล้มละลายตามห้างนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 โดยไม่จำต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านเด็ดขาดนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน