แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
ย่อยาวคำพิพากษาฎีกาที่ 7086/2559
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๓๓๔, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ ริบรถยนต์เก๋ง โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๗) วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๓ จำคุกคนละ ๓ ปีจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๒ ปี ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ของกลาง คืนรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต หมายเลขทะเบียน ฎข ๘๗๙๓ (ที่ถูก ๘๗๙๒) กรุงเทพมหานคร ให้แก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ประกอบมาตรา ๘๖ จำคุกคนละ ๒ ปี คำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๑ ปี๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยไม่ได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ นาฬิกา นางสาวระพี ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ว่าตนได้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้วนำมาใช้ในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรพานทองเกิดหายไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจซักถามจนนางสาวระพียอมรับว่ามีความเดือดร้อนทางการเงิน พบใบปลิวติดตามศาลารอรถโดยสารมีข้อความทำนองว่า บริการเงินด่วนทันใจอนุมัติไว ไม่ต้องใช้หลักฐานหรือผู้ค้ำประกัน จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ ก็ได้รับแจ้งว่าให้ไปทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้วนำรถจักรยานยนต์มาแลกกับเงิน เมื่อชำระค่าเช่าซื้อ ๒ ถึง ๓ งวด ก็ให้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ารถจักรยานยนต์หาย เพื่อให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินชดใช้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งนางสาวระพีเคยทำเช่นนี้มาแล้วสองครั้งครั้งแรก ติดต่อกับจำเลยที่ ๓ โดยได้รับค่าตอบแทนแลกกับการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาให้เป็นเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท ครั้งที่สอง ติดต่อกับชายคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ หมายเลขโทรศัพท์คนละหมายเลขกับหมายเลขครั้งแรก ได้รับค่าตอบแทนแลกกับการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาให้เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท เป็นที่มาของการมาแจ้งความดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ นางสาวระพีจึงไม่ประสงค์แจ้งความต่อไปและยินยอมเป็นสายลับเพื่อจับกุมผู้กระทำการดังกล่าว โดยโทรศัพท์ไปที่หมายเลข ๐๘ ๑๑๕๕ ๑๓๔๗ ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์หนึ่งในหลายหมายเลขจากใบปลิวที่ติดประกาศไว้ตามศาลา รอรถโดยสารและค้นได้จากที่บ้านของนางสาวระพี นางสาวระพีได้พูดคุยกับชายคนหนึ่งบอกว่าให้นางสาวระพีไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาแลกกับเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงติดต่อขอยืมรถจักรยานยนต์ของบริษัทกรุ๊ปลิส จำกัด (มหาชน) จากร้านอาคมเจริญยนต์ซึ่งมีนางสาวอริศรา อุดมวุฒิวงศ์ เป็นผู้จัดการร้าน เป็นรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกู๊ปปี้ไอ ป้ายแดง วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ เจ้าหน้าที่ตำรวจให้นางสาวระพีขับไปยังจุดนัดพบที่หน้าพานทองคอนโดมิเนียมเวลาประมาณ ๑๗.๑๕ นาฬิกา โดยวันนั้นจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อเชฟโรเลต หมายเลขทะเบียน ฎข ๘๗๙๒ กรุงเทพมหานคร พร้อมจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ ๒ ไปส่งจำเลยที่ ๑ ที่บริเวณจุดนัดพบ เมื่อนางสาวระพีพบจำเลยที่ ๑ซึ่งมารับรถจักรยานยนต์ตามที่ตกลงกันแทนชายคนที่นางสาวระพีติดต่อด้วย ขณะจำเลยที่ ๑จะหยิบเงินออกจากกระเป๋าเสื้อเพื่อให้นางสาวระพีก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ส่วนจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ถูกจับกุมในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ ขณะไปเยี่ยมจำเลยที่ ๑ ที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง
คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เพียงว่า นางสาวอริศรา มอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยืมไป ไม่ใช่เกิดจากถูกนางสาวระพีหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งรถจักรยานยนต์จากผู้ถูกหลอกลวง เมื่อการกระทำของนางสาวระพีไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนางสาวระพีหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด” สำหรับการก่อให้ผู้อื่นไปกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ และความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง สำเร็จได้โดยมิพักต้องคำนึงถึงผลของการกระทำนั้นว่าผู้นั้นไปดำเนินการตามนั้นอย่างไรหรือไม่ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๘๔ วรรคสอง ที่ว่า “ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” ดังนั้น การยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นให้ขับไปทำทีไปส่งมอบให้เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิด มีผลให้ความผิดฐานฉ้อโกงมิได้กระทำลง ก็มีผลเพียงผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หามีผลให้ผู้ใช้พ้นความผิดไปด้วยไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า “เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันลักทรัพย์เอารถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้ารุ่นสกู๊ปปี้ไอ สีขาว-เทา คันหมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ๔๐-๔๕๔๓ สภ.เมืองชลบุรีราคา ๔๕,๐๐๐ บาท ของบริษัทกรุ๊ปลิส จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของนางสาวระพี ธารา ไปโดยทุจริต…” แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากลายเป็นการให้นางสาวระพีไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์นำมาแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจากนางสาวระพีไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ดังที่กล่าวในฟ้อง และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามที่ปรากฏในการพิจารณาไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ส่วนที่ว่าลงโทษจำเลยทั้งสามฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ได้หรือไม่ เห็นว่า การชี้ช่องแนะนำให้นางสาวระพีไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นางสาวระพีก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่ ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๘๔ วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้นางสาวระพีขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจากนางสาวระพีโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ไม่ บริษัทกรุ๊ปลิส จำกัด (มหาชน) ตามที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องว่าเป็นผู้เสียหายก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีผู้ใดเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เท่ากับไม่มีการกระทำอันถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่กล่าวในฟ้องและการกระทำอันถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแต่อย่างใด จึงไม่มีฐานความผิดที่จะนำมาใช้ลงโทษตามที่โจทก์ฟ้องได้เลย ทั้งความผิดตามมาตรา ๓๔๑ อันเป็นมูลฐานแห่งความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ มาประกอบกับมาตรา ๘๖ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา ๓๔๑ ประกอบมาตรา ๘๖ ได้อีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟังขึ้น และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีที่ให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๙ และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษากลับเป็น ยกฟ้องโจทก์ ของกลางทั้งหมดไม่ริบและให้คืนแก่เจ้าของ.