แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการมีตำแหน่งหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนไว้มากหลายการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการจึงต้องมีอิสระ ปราศจากอิทธิพลทั้งภายนอกจากทางการเมือง และภายในจากการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้ประธาน ก.อ.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ถ่วงดุลย์อำนาจของอัยการสูงสุดไม่ให้มีอิทธิพลเหนือข้าราชการอัยการทั้งปวงมากจนเกินไป อันเป็นการปกป้องคุ้มครองข้าราชการอัยการให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากอิทธิพลครอบงำใด ๆ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง การที่จะแปลกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 15 ตรี วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ข้อ 5 และมาตรา 20วรรคสองที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้อัยการสูงสุดในฐานะรองประธาน ก.อ.ทำหน้าที่ประธาน ก.อ.ได้ชั่วคราวในระหว่างที่ประธาน ก.อ.พ้นจากตำแหน่งหรือไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้โดยให้หมายความรวมถึงให้รองประธาน ก.อ.ทำหน้าที่ประธาน ก.อ.ได้ในระหว่างที่ประธาน ก.อ. ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ย่อมเป็นการแปลขยายความเพิ่มอำนาจให้แก่อัยการสูงสุดให้มีอำนาจตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการอัยการที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้ทุกระดับชั้นขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 54 และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหมายให้มีการถ่วงดุลย์อำนาจซึ่งกันและกันจึงไม่อาจกระทำได้
คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีกรรมการทั้งหมด 14 คนตราบใดที่มีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 7 คน แม้ประธาน ก.อ.ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก.อ.ก็สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ โดยให้รองประธาน ก.อ.เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธาน ก.อ.หรือรองประธานก.อ.ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการอัยการในที่ประชุมเลือกกรรมการอัยการคนหนึ่งเป็นประธาน โดยอัยการสูงสุดมีหน้าที่เสนอเรื่องที่จะประชุมต่อ ก.อ. โดยไม่ตัดสิทธิกรรมการ ก.อ.คนหนึ่งคนใดที่จะเสนอ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 20 และ 21 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ข้อ 7 และข้อ 8กิจการทั้งหลายทั้งปวงของอัยการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการอัยการการโอนย้ายข้าราชการอัยการไปเป็นข้าราชการธุรการหรือหน่วยงานอื่นหรือย้ายกลับมาเป็นข้าราชการอัยการ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การออกข้อกำหนดการเลื่อนเงินเดือน การกำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ การให้ข้าราชการอัยการซึ่งขาดคุณสมบัติบางประการออกจากราชการและอื่น ๆ บรรดาที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.อ. ก็จักสามารถดำเนินการต่อไปได้ คงมีแต่เฉพาะเรื่องการลงโทษข้าราชการอัยการในขั้นที่ร้ายแรงเท่านั้น ที่ต้องมีบทกฎหมายบัญญัติกำกับไว้เป็นกรณีพิเศษ แต่หากมีกรณีที่พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเป็นที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งโดยไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือให้ถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา จำเป็นจะต้องลงโทษข้าราชการอัยการผู้นั้นโดยฉับพลันแล้ว พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 56 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ข้อ 7 ก็บัญญัติให้อำนาจประธาน ก.อ.สั่งลงโทษได้โดยไม่ต้องสอบสวน หรือถ้าประธาน ก.อ.ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ก็สามารถมอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษแทนได้
เมื่อคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการอัยการชั้น 4 ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2521 มาตรา 54(2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ข้อ 7 และข้อ 8 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ จึงไม่มีผลของการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายที่อัยการสูงสุดจะทำความเห็นรายงานให้ ก.อ.มีอำนาจลงมติให้ลงโทษโจทก์ตามมาตรา 54 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ข้อ 7 และข้อ 8 ได้ มติคณะกรรมการอัยการที่ให้ลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการและคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่สั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการตามมติคณะกรรมการอัยการดังกล่าว จึงเป็นมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2540)