แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมียาไว้ในครอบครองเพื่อขายที่กล่องบรรจุ ระบุว่ามีส่วนผสมของเฟเนทิลลีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2แต่ที่จริงมีสารเพโมลีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2แต่ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา37กำหนดให้วัตถุที่ออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์อื่นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมเมื่อกล่องบรรจุยาระบุว่ามีส่วนผสมของสารเฟเนทิลลีน กลับมีสารเพโมลีนผสมอยู่ไม่ตรงกับชื่อวัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุไว้ที่กล่องบรรจุยาจึงถือได้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมแต่จำเลยไม่ทราบว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมจึงเป็นความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามมาตรา36(1,98วรรคสามประกอบมาตรา4 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท2ไว้ในครอบครองเพื่อขายแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท2ไว้ในครอบครองเพื่อขายเท่านั้นโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามที่พิจารณาได้ความจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสี่ จำเลยมียาไว้ในครอบครองเพื่อขายที่กล่องบรรจุยาระบุว่ามีส่วนผสมของเฟเนทิลลีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2แต่ที่จริงมีสารอีเฟดรีนและสารธีโอฟิลลีนผสมอยู่แต่สารธีโอฟิลลีนเป็นตัวยาไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์ส่วนสารอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ได้ต่อเมื่อไม่ได้ผสมกับตัวยาชนิดอื่นเมื่อสารอีเฟดรีนผสมกับตัวยาชนิดอื่นแล้วจะไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์แต่จะมีสภาพเป็นยาซึ่งนอกเหนือการควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่51(พ.ศ.2531)ข้อ4(5)แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่71(พ.ศ.2534)ระบุว่าอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท3เฉพาะวัตถุตำรับเดียวเมื่อยาดังกล่าวมีสารอีเฟดรีนและสารธีโอฟิลลีนผสมอยู่จึงเป็นยาเท่านั้นไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์ปลอมการที่จำเลยมีไว้เพื่อขายจึงไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2534 เวลากลางวันจำเลยมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2531) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58 (พ.ศ.2532) ผสมเป็นเม็ดยา จำนวน 2,280 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และจำเลยมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมโดยมีอีเฟดรีนและธีโอฟิลลินผสมทำเทียมแสดงว่าเป็นเฟเนทิลลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวแล้วจำนวน 10,440 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อขาย โดยมิได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 6, 13, 36, 37, 62, 89, 98, 106, 116 ริบของกลางให้กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฎิเสธ แต่รับว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ตามฟ้องไว้ในครอบครองจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,36, 37, 89, 98 วรรคสาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 9, 13 การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 บทหนักตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2535 มาตรา 9, 13 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลย จำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและรับว่ามีไว้ในครอบครองในชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 ปีริบของกลางให้กระทรวงสาธารณสุขข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้มียาแค๊ปตากอนของกลาง 636 กล่องจำนวน 12,720 เม็ด ไว้ในครอบครอง ที่กล่องบรรจุยาของกลางระบุว่ามีส่วนผสมของเฟเนทิลลีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51(พ.ศ. 2531) ข้อ 3(3) ยาของกลางจำนวน 2,280 เม็ด ตรวจวิเคราะห์แล้วพบสารเพโมลีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 58 (พ.ศ. 2532)ยาของกลางนอกจากนั้นตรวจวิเคราะห์แล้วพบสารอีเฟดรีนและธีโอฟิลลีนผสมอยู่ จำเลยไม่ทราบว่ายาของกลางเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยได้กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทสำรวย นวลโสภา พนักงานสอบสวนเบิกความว่าครั้งแรกพยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ไว้เพื่อขาย จำเลยให้การรับสารภาพว่าเมื่อปี 2531 จำเลยเป็นพนักงานขายส่งให้แก่ร้านค้าทั่วไปวันหนึ่งได้มีชาวต่างประเทศผู้หนึ่งแจ้งว่าต้องการยาแค๊ปตากอนจำนวนหนึ่งและได้มอบเงินจำนวน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยเป็นค่าซื้อยาดังกล่าว ขณะนั้นจำเลยทราบว่ายาดังกล่าวไม่สามารถหาซื้อได้เพราะห้ามขาย จำเลยจึงไปติดต่อกับพนักงานขายยาด้วยกันให้นำยามาขายให้ในราคากล่องละ 60 บาท เพื่อนำไปขายต่อแก่ชาวต่างประเทศในราคากล่องละ 150 บาท เมื่อจำเลยรวบรวมยาของกลางได้จำนวน 636 กล่อง จำเลยจึงนำยาของกลางมาเก็บไว้ที่บ้านโดยจะนำไปขายให้แก่ชาวต่างประเทศที่ติดต่อไว้ถ้าหากกลับมาในประเทศไทย ต่อมาพยานได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า มีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำเลยก็ให้การรับสารภาพโดยโจทก์มีบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.10และบันทึกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานสนับสนุนร้อยตำรวจโทสำรวยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย น่าเชื่อว่าเบิกความตามความจริงจำเลยเองก็นำสืบว่า จะนำยาของกลางไปขายแก่ชาวต่างประเทศแต่ชาวต่างประเทศกลับไปแล้ว จะกลับมาประเทศไทยอีกใน 3 เดือนข้างหน้า จำเลยจึงเก็บยาของกลางไว้ที่บ้านเพื่อที่จะส่งมอบให้ชาวต่างประเทศดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมียาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขาย แต่ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 37 บัญญัติว่า วัตถุออกฤทธิ์หรือสิ่งต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอม (2) วัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์อื่น เมื่อกล่องยาของกลางระบุว่า มีส่วนผสมของสารเฟเนทิลีน แต่เมื่อตรวจวิเคราะห์แล้วปรากฎว่ายาจำนวน 2,280 เม็ดมีสารเพโมลีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท2 ผสมอยู่ แต่ก็ไม่ตรงกับชื่อวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ระบุไว้ที่กล่องบรรจุยาของกลาง ยาของกลางจำนวนนี้ถือได้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อเป็นวัตถุออกฤทธิ์อื่นตามบทกฎหมายดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมเมื่อจำเลยไม่ทราบว่ายาของกลางจำนวนนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอม การกระทำของจำเลยเกี่ยวกับยาของกลางจำนวนนี้ จึงเป็นความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 36(1), 98 วรรคสองประกอบมาตรา 4 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเพโมลีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายเท่านั้น โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ปลอมไว้ครอบครองเพื่อขายโดยไม่รู้ว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามที่พิจารณาได้ความแต่อย่างใดจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ส่วนยาของกลางนอกนั้นที่ตรวจวิเคราะห์พบสารอีเฟดรีนและสารธีโอฟีลลีนผสมอยู่นั้น ได้ความจากนางพูนทรัพย์ โกสินทร์พยานโจทก์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้ตรวจวิเคราะห์ยาของกลางว่า สารธีโอฟิลลีนเป็นตัวยาไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทสารอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ต่อเมื่อไม่ได้ผสมกับตัวยาชนิดอื่น เมื่อสารอีเฟดรีนผสมกับตัวยาชนิดอื่นแล้วจะไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแต่จะมีสภาพเป็นยาซึ่งนอกเหนือการควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2531) ข้อ 4(5) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 70 (พ.ศ. 2534) ระบุว่า อีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 3 เฉพาะวัตถุตำรับเดียวซึ่งนางพูนทรัพย์ก็เบิกความว่า อีเฟดรีน เฉพาะวัตถุตำรับเดียว หมายความว่า ยานั้นจะมีเฉพาะอีเฟดรีนเป็นตัวยาเพียงสารเดียวเมื่อปรากฎว่ายาของกลางส่วนนี้มีสารอีเฟดรีนและสารธีโอฟิลลีนผสมอยู่จึงเป็นยาเท่านั้นไม่ใช่วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การที่จำเลยมียาของกลางส่วนนี้ไว้เพื่อขายจึงไม่เป็นความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ยาแค๊ปตากอนของกลางที่ไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์