คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้ในคดีฉ้อโกง ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนกลุ่มผู้เสียหายรวมทั้งโจทก์ร่วม และไม่วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ
การฎีกาในปัญหาใด ๆ ต่อศาลฎีกานั้นย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน แม้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกแก่ผู้เสียหายรวม 81 คน แต่ราคาข้าวเปลือกของผู้เสียหายที่โจทก์ขอมาแต่ละคนต่างแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น โจทก์ร่วมย่อมเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะสิทธิเรียกราคาข้าวเปลือกในส่วนของตนเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโจทก์ร่วมย่อมฎีกาได้เฉพาะส่วนของตน จะฎีกาแทนโจทก์หรือผู้เสียหายคนอื่นมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกเป็นเงิน 2,395,856 บาท ให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 81 คน
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางหลำ ผู้เสียหายที่ 10 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่ผู้เสียหายจำนวน 78 ราย (ปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น) (คำขออื่นให้ยก)
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายทั้ง 78 ราย ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการรับซื้อข้าวเปลือก ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2541 จำเลยทั้งสามได้รับซื้อข้าวเปลือกจากกลุ่มผู้เสียหาย และได้ชำระค่าข้าวเปลือกให้ผู้เสียหายบางคนเพียงบางส่วน แล้วไม่ชำระส่วนที่เหลือ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกแก่ผู้เสียหายทั้ง 81 คน รวมเป็นเงิน 2,395,856 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง และพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่ให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระราคาข้าวเปลือกแก่ผู้เสียหายรวม 78 คน คู่ความไม่อุทธรณ์ในคดีส่วนอาญา คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นอันยุติ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำขอในคดีส่วนแพ่งมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนโจทก์ร่วมได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บัญญัติให้ในคดีฉ้อโกง ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย คดีนี้เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกงค่าข้าวเปลือกของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 10 เป็นเงิน 23,865 บาท และขอให้จำเลยทั้งสามคืนหรือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญาแต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนกลุ่มผู้เสียหายรวมทั้งโจทก์ร่วม และไม่วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น สำหรับปัญหาว่าจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกแก่โจทก์ร่วมหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณา เห็นว่า ปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเบิกความประกอบสำเนาตั๋วชั่งข้าว ยืนยันว่า จำเลยทั้งสามซื้อข้าวเปลือกจากโจทก์ร่วมในราคาเกวียนละ 4,750 บาท รวมเป็นเงิน 23,865 บาท แล้วยังไม่ได้ชำระค่าข้าวเปลือก ส่วนจำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบปฏิเสธเพียงแต่อ้างว่าได้ชำระค่าข้าวเปลือกให้แก่ผู้เสียหายบางรายแล้วแต่จำเลยทั้งสามมีเพียงบิลเงินสดและบันทึก ซึ่งเป็นหลักฐานการชำระเงินค่าข้าวเปลือกให้แก่ผู้เสียหายรายอื่นมาแสดงเท่านั้น จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ชำระค่าข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ที่จำเลยทั้งสามอ้างในคำแก้ฎีกาว่าตั๋วชั่งข้าว เป็นเพียงสำเนา จึงต้องห้ามมิให้รับฟังนั้น เห็นว่าแม้ตั๋วชั่งข้าวเอก จะเป็นเพียงสำเนา แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกับต้นฉบับ ทั้งจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนี้ และยังนำสืบรับว่าได้รับซื้อข้าวเปลือกจากกลุ่มผู้เสียหายซึ่งรวมถึงโจทก์ร่วมจริง จึงรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามซื้อข้าวเปลือกจากโจทก์ร่วม และยังค้างชำระค่าข้าวเปลือกแก่โจทก์ร่วมตามฟ้อง จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าข้าวเปลือกแก่โจทก์ร่วม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลมีคำพิพากษาไปถึงผู้เสียหายคนอื่นในคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่า การฎีกาในปัญหาใด ๆ ต่อศาลฎีกานั้นย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน แม้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกแก่ผู้เสียหายรวม 81 คน แต่ราคาข้าวเปลือกของผู้เสียหายที่โจทก์ขอมาแต่ละคนต่างแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น โจทก์ร่วมย่อมเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะสิทธิเรียกราคาข้าวเปลือกในส่วนของตนเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโจทก์ร่วมย่อมฎีกาได้เฉพาะส่วนของตน จะฎีกาแทนโจทก์หรือผู้เสียหายคนอื่นมิได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 23,865 บาทแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share