คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นจดบันทึกไว้ว่า ทนายโจทก์ถามค้านพยานไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ศาลเตือนและออกข้อกำหนดให้ทนายโจทก์ถามพยานตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนด แต่ทนายโจทก์ยังถามค้านพยานไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอยู่เช่นเดิม จึงถือว่าจบคำถามดังนี้ เมื่อทนายโจทก์ไม่ได้ร้องคัดค้าน หรือให้จดคำถามและข้อคัดค้านไว้ จึงไม่ปรากฎคำถามใดที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดไม่ให้ทนายโจทก์ถามค้านและทนายโจทก์คัดค้านคำชี้ขาดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 วรรคท้าย จึงไม่มีคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นที่โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อฎีกาเพื่อให้ยกคำพิพากษาศาลล่างและให้พิจารณาพิพากษาใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12340 เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2530 จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองไป ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ที่ 1 ไปยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน และสมคบกับข้าราชการสำนักงานที่ดินให้โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในเอกสารราชการอ้างว่าจะทำการสำรวจที่ดินเพื่อค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ โจทก์ที่ 1 หลงเชื่อและลงชื่อในเอกสารดังกล่าวและเมื่อระหว่างวันที่ 7 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2531จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและปลอมลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ในหนังสือให้ความยินยอมในการนิติกรรมยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนั้นจำเลยที่ 1และที่ 4 ถึงที่ 7 ยังได้สมคบกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิและเอกสารราชการเพื่อจดทะเบียนนิติกรรมที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ด้วย หลังจากจดทะเบียนนิติกรรมยกให้แล้วจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดดังกล่าวแก่จำเลยที่ 8โดยโจทก์ทั้งสองมิได้ยินยอมด้วย จึงขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกให้และการจำนองที่ดินโฉนดดังกล่าว ให้ขับไล่จำเลยที่ 1ออกไปจากที่ดินโฉนดดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะออกไปจากที่ดินโฉนดดังกล่าว และให้จำเลยที่ 8 ส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย
จำเลยทั้งแปดให้การว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินพิพาทตามฟ้องและไม่ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสอง และไม่ได้ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการเพื่อฉ้อโกงโจทก์โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนนิติกรรมยกที่ดินโฉนดพิพาทให้จำเลยที่ 1โดยสมัครใจ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7ต่อโจทก์ และจำเลยที่ 8 รับจำนองที่ดินโฉนดพิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันและตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาโดยไม่มีคู่ความฎีกาโต้เถียงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12340 ตำบลบางมด (ราษฎร์บูรณะ) อำเภอราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินประจำสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางขุนเทียน ของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่18 มกราคม 2531 จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมกันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ล.6 (จ.8) และสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3โดยจำเลยที่ 6 และที่ 7 ร่วมลงชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาให้ที่ดินด้วย ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 8 ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.9 ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นไม่บันทึกคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าคำถามใดเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีอำนาจไม่ให้ใช้คำถามนั้นและไม่บันทึกคำพยานปากนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่บันทึกคำพยานที่ทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านจำเลยที่ 1 โดยเห็นว่าเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนั้นชอบแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ศาลชั้นต้นไม่ให้ทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 19 เมษายน 2532ศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ว่า ทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาท ศาลเตือนและออกข้อกำหนดให้ทนายโจทก์ทั้งสองถามพยานตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนด แต่ทนายโจทก์ทั้งสองยังถามค้านพยานไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอยู่เช่นเดิม จึงถือว่าจบคำถามนั้นทนายโจทก์ทั้งสองไม่ได้ร้องคัดค้าน หรือให้จดคำถามและข้อคัดค้านไว้เมื่อไม่ปรากฎว่าคำถามใดที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดไม่ให้ทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านและทนายโจทก์ทั้งสองคัดค้านคำชี้ขาดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 118 วรรคท้าย จึงไม่มีคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นที่โจทก์ทั้งสองจะยกขึ้นเป็นข้อฎีกาเพื่อให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและให้พิจารณาพิพากษาใหม่ได้ฎีกาคำสั่งของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share