คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่มีเครือข่ายหลายระดับและมีขั้นตอนซับซ้อนยากที่จะสืบทราบและหาพยานหลักฐานดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องได้ ข้อมูลที่จำเลยให้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนเป็นข้อมูลโดยละเอียดของผู้นำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายรายใหญ่ 4 คน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนมั่นใจในข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดที่มีอยู่ว่าถูกต้องจึงติดตามจับกุมบุคคลเหล่านั้นและจับกุมได้บางคนในเวลาต่อมา ดังนั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะมีเป็นจำนวนมาก กรณีก็มีเหตุผลสมควรที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานนี้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 190 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาหลบหนีไประหว่างถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 100/2 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาชั้นต้น คดีคงชั้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจงานสืบสวนกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 300,000 เม็ด น้ำหนัก 24,666 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1,378,207 กรัม และโทรศัพท์เคลื่อนที่กับรถยนต์เป็นของกลาง กล่าวหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาจนถึงชั้นพิจารณา โดยในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเห็นสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบมาตรา 100/2 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราโทษขั้นต่ำของบทกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ชอบเพราะกำหนดโทษขั้นต่ำของกฎหมายแทนที่จะกำหนดโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยสถานเบาโดยกำหนดโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำและยกเว้นโทษปรับ อ้างว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า การค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่มีเครือข่ายหลายระดับและมีขั้นตอนซับซ้อนยากที่จะสืบทราบและหาพยานหลักฐานดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องได้ ข้อมูลที่จำเลยให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนเป็นข้อมูลโดยละเอียดของผู้นำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายรายใหญ่ 4 คน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนมั่นใจในข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดที่มีอยู่ว่าถูกต้องจึงติดตามจับกุมบุคคลเหล่านั้น และจับกุมได้บางคนในเวลาต่อมา ดังนั้นแม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะมีเป็นจำนวนมาก กรณีก็มีเหตุผลสมควรที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานนี้ตามมาตรา 100/2 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษขั้นต่ำตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ยกเว้นโทษปรับนั้น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ” เมื่อความผิดที่จำเลยกระทำดังกล่าวมีระวางโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสาม ให้จำคุกและปรับ ศาลจึงต้องลงโทษจำคุกและปรับจำเลยด้วยเสมอ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบมาตรา 100/1 วรรคสอง,100/2 ให้ลงโทษจำคุก 40 ปี และปรับ 800,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 ปี และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share