แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่1และที่2กู้เงินจากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ12.5ต่อปีมีข้อสัญญาว่าหากว่าผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือตามประกาศใดๆที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งบริษัทเงินทุนอาจเรียกได้ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเดิมนับแต่วันที่มีการผิดนัดเป็นเบี้ยปรับโดยเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้าระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ข้อสัญญาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้จะเรียกค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าเบี้ยปรับค่าปรับดอกเบี้ยหรืออย่างไรก็ได้แต่หากมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาได้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแล้วก็ย่อมเป็นเบี้ยปรับทั้งสิ้นฉะนั้นหากศาลชั้นต้นเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน2,171,279.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน1,861,723.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 27376 ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์ และยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,861,723.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 27376 ตำบลบางพูนอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379เบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้า โดยลูกหนี้ให้สัญญาว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ และปรากฎว่าในการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2กู้เงินจากโจทก์นั้นได้มีการตกลงกันตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.6 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี กำหนดชำระเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 23,200 บาทโดยชำระงวดแรกภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2536 งวดต่อ ๆ ไป ชำระทุกภายในวันที่ 16 ของแต่ละเดือน โดยมีสัญญาข้อ 5 ว่า “หากว่าผู้กู้ผิดนัดไม่ส่งเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศของผู้ให้กู้ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือตามประกาศใด ๆที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งบริษัทเงินทุนอาจเรียกได้ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น (ซึ่งในวันทำสัญญานี้เท่ากับอัตราร้อยละ 21 ต่อปี)โดยคิดจากวันที่มีการผิดนัดเป็นต้นไป” ตามสัญญาข้อ 5 ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มจากดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ที่กำหนดไว้เดิมเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ตรงตามกำหนดอันทำให้โจทก์เสียหาย ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเดิมในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีการผิดนัดดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 โดยเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้าระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้และวินิจฉัยว่าข้อสัญญาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้จะเรียกค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าเบี้ยปรับ ค่าปรับ ดอกเบี้ยหรืออย่างไรก็ได้แต่หากมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาได้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแล้วก็ย่อมเป็นเบี้ยปรับทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้เดิม นับตั้งแต่วันที่มีการผิดนัดเป็นเบี้ยปรับ และศาลชั้นต้นเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลชั้นต้นก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน