แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้จำคุกจำเลย 6 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 3 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลย 3 เดือนแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพเพราะเจ้าพนักงานตำรวจแนะนำว่าจำเลยจะถูกลงโทษเพียงเล็กน้อยนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการยกเว้นข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย และมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ทรัพย์ที่จำเลยลักทั้งหมดเป็นเพียงเครื่องสำอางที่ใช้สำหรับสตรีโดยทั่วไปและมีราคารวมกันเล็กน้อยเพียง 435 บาท โดยภายหลังเกิดเหตุผู้เสียหายได้รับทรัพย์ทั้งหมดคืนแล้วและไม่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีก พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยเป็นหญิง มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวและเพิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรกยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยสักครั้งโดยรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ เพื่อจำเลยจะได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีและสามารถประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นกักขังแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นแต่เพื่อป้องปรามมิให้จำเลยหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยด้วย
อนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้จำคุกจำเลย 6 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกจำเลยไม่เปลี่ยนเป็นกักขัง แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลย 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 15 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2