แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ต้องการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ แต่โจทก์มิได้เป็นสมาชิกจึงขอให้ อ. ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์แทนโดยโจทก์นำที่ดินมาจำนองเป็นประกัน สหกรณ์อนุมัติให้ อ. กู้ยืมเงินและสหกรณ์หักค่าหุ้นและเงินกู้ระยะสั้นที่ อ. ค้างชำระออก ก่อนส่งมอบเงินที่เหลือให้แก่ อ. พฤติการณ์ถือว่า อ. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ และเป็นเจ้าของเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ เมื่อโจทก์มิได้มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนไปรับเงินจาก อ. ดังนั้น หาก อ. มอบเงินที่กู้ยืมมาจากสหกรณ์ให้แก่จำเลยเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องความรับผิดระหว่าง อ. กับจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ตกลงให้นางเอื้อนทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์การเกษตรบางปลาม้า จำกัด เป็นเงิน 500,000 บาท โดยโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์เพื่อประกันหนี้ตามสัญญาจำนอง เหตุที่ต้องให้นางเอื้อนเป็นผู้กู้ยืม เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯดังกล่าว ต่อมาในวันเกิดเหตุตามฟ้องนางเอื้อนไปรับเงินที่กู้ยืมซึ่งเมื่อคิดหักชำระหนี้สินและค่าหุ้นแล้ว คงได้รับเป็นเงิน 431,928 บาท ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากนางเอื้อนแต่อย่างใด และโจทก์มีนางพรทิพย์ผู้จัดการสหกรณ์ฯ มาเบิกความว่า นางเอื้อนเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับสหกรณ์ฯ โดยมีโจทก์เป็นผู้นำที่ดินมาจำนองเป็นประกันและนางเอื้อนเป็นผู้มารับเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ฯ โดยสหกรณ์ฯหักค่าหุ้น เงินกู้ระยะสั้นที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย ก่อนมอบเงินที่เหลือให้แก่นางเอื้อน โจทก์และนางเอื้อนเองก็รับว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กู้ด้วยตนเอง เพราะมิได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ ตามพฤติการณ์จึงต้องถือว่านางเอื้อนเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ฯ และเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ฯตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ต่อให้แก่ผู้ใด นอกจากนี้ยังได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนไปรับเงินจากนางเอื้อน ดังนั้นหากนางเอื้อนจะได้มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อฝากต่อให้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องความรับผิดระหว่างนางเอื้อนกับจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยได้ในความผิดคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.