คำสั่งคำร้องที่ 557/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อแล้ว เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกา นอกจากนั้นยังโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษจำเลย ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จึงไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาที่ว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาเข้าข่ายที่จะต้องยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 มาปรับ จำเลยอุทธรณ์ไว้แล้วแต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัย กับข้อแตกต่างของพยานโจทก์เป็นข้อสำคัญที่จะพิพากษายกฟ้องได้เป็นปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว ส่วนโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่าได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่ (อันดับ 90)
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายเอี้ยซิมแซ่โหลผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 1 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 84)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 86)

คำสั่ง
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีคดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ในข้อที่จำเลยฎีกาว่า ข้อแตกต่างของพยานโจทก์ในคดีนี้ถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับข้อที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 มาปรับบทและข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นการป้องกัน นั้น แม้ตามข้ออ้างดังกล่าวจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ในเนื้อหาตามฎีกากลับเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงมีผลเท่ากับเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกันที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ให้ยกคำร้อง

Share