แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้ โจทก์จะยอมแพ้ หากไม่สามารถโอนได้ จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดี และตกลงให้สืบพยานคนกลางเพียงปากเดียว โดยให้ศาลถามพยานว่าที่ดินพิพาทสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วตัดสินคดีไปตามนั้น พยานคนกลางเบิกความตอบคำถามว่า ที่ดินพิพาทถึงแม้จะทำกัน (หมายถึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย) ภายหลังที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับ หากคู่สัญญายืนยันรับผิดชอบกันเองก็สามารถที่จะโอนกันได้ตามกฎหมาย คำเบิกความของพยานคนกลางจึงตรงตามคำท้าและสมฝ่ายจำเลย เพราะรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 แล้ว โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างสละประเด็นอื่นทั้งหมด คงเหลือประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินทั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้โจทก์จะยอมแพ้คดี หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดี คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงให้หัวหน้าสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ เป็นพยานเบิกความโดยให้ศาลถามพยานว่า ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเจ้าพนักงานที่ดินสามารถจดทะเบียนโอนให้ตามกฎหมายได้หรือไม่ แล้วให้ตัดสินไปตามที่พยานเบิกความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 4,125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้ โจทก์จะยอมแพ้คดี หากไม่สามารถโอนได้จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดีและตกลงให้สืบพยานคนกลางเพียงปากเดียวโดยให้ศาลถามพยานว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วตัดสินคดีไปตามที่พยานเบิกความนั้น ก็จะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่พยานคนกลางเบิกความนั้นตรงต่อคำท้าหรือไม่ หากเหตุการณ์ที่พยานคนกลางเบิกความตรงตามคำท้าแล้ว ศาลก็จะต้องตัดสินตามคำท้านั้น ตามคำเบิกความของนายเกษมที่ตอบศาลถามนั้น นายเกษมยืนยันว่า ที่ดินพิพาทถึงแม้จะทำกัน (หมายถึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย) ภายหลังที่พระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับ หากคู่สัญญายืนยันรับผิดชอบกันเองก็สามารถที่จะโอนกันได้ตามกฎหมาย แม้นายเกษมเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า หากมีการอายัดโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกันได้นั้นเป็นเงื่อนไขที่พยานเบิกความขึ้นเองไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขตามคำท้าเพราะตามคำท้ามิได้กล่าวถึงการอายัดไว้ด้วย คำเบิกความของนายเกษมจึงตรงตามคำท้าและสมฝ่ายจำเลยเพราะรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 แล้ว โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แม้ศาลอุทธรณ์จะกล่าวด้วยว่าคำเบิกความของนายเกษมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และ ป.พ.พ. มาตรา 1336 ก็เป็นเพียงการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าคำเบิกความของนายเกษมตรงตามคำท้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสี่ 10,000 บาท.