แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เบิกความในคดีแพ่งว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดต่อเจ้าพนักงานต่อศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกับปัญหาในคดีนี้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและเสียค่าอ้างเอกสารครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้เรียกสำนวนนั้นมาประกอบการพิจารณาแต่จำเลยได้ส่งคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวต่อศาลก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา สำนวนคดีอาญาจึงเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)ศาลรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนนั้นประกอบการพิจารณาได้ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนอาญาแล้ว ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นจำเลยรายเดียวกับจำเลยในคดีส่วนอาญา ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก็เป็นอย่างเดียวกัน ดังนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นหลักในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46โดยต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เป็นพนักงานโรงพยาบาลที่โจทก์เป็นผู้อำนวยการได้ทำบันทึกและให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคและคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยไปตามที่จำเลยได้รู้เห็นในฐานะที่ทำงานร่วมโรงพยาบาลเดียวกับโจทก์หรือเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแก่จำเลยด้วยตนเองว่าโจทก์ทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการซึ่งต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความจริงโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือตามวิสัยของการติชม ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนและให้ถ้อยคำเท็จอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาค และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ร่วมกันไขข่าวฝ่าฝืนความจริงต่อหนังสือพิมพ์ ทำให้คณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยหลงเชื่อและกระทรวงสาธารณสุขสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1,118,054 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า ไม่ได้ร่วมกันไขข่าวต่อหนังสือพิมพ์ จำเลยร้องเรียนและให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนตามความจริง เพื่อความชอบธรรมและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติโจทก์ถูกปลดจากงานเพราะกระทำผิดวินัยจำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ได้ความจากทางพิจารณาคดีว่า โจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาคดีนี้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 เป็นคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันกับปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ด้วย ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 479-480/2521ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีโจทก์ในคดีนี้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ด้วยและได้ชำระค่าธรรมเนียมในส่วนที่เป็นค่าอ้างเอกสารครบถ้วน ดังนี้แม้โจทก์ไม่ได้เรียกสำนวนคดีอาญาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแต่ฝ่ายจำเลยก็แถลงโดยส่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ตั้งแต่ก่อนทำคำพิพากษาปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 387-388/2526 สำนวนคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) และรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญาดังกล่าวประกอบการพิจารณาได้ เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญานั้นแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 353-354/2529 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ของคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยรายเดียวกันกับจำเลยในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นด้วยรวมทั้งประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้ก็เป็นอย่างเดียวกับปัญหาที่ได้วินิจฉัยในส่วนคดีอาญาดังกล่าวศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นหลักในการพิพากษาคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 โดยต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ซึ่งไม่ได้ถูกโจทก์ฟ้องเป็นจำเลยรายเดียวกันกับจำเลยในคดีส่วนอาญาด้วย ดังนี้
ข้อ 1 การกระทำของจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ทำบันทึกและให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการสอบสวนที่ได้ทำการสอบสวนโจทก์ในข้อหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
ข้อ 2 จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ไขข่าวฝ่าฝืนความจริงต่อหนังสือพิมพ์มีข้อความละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
ข้อ 3 ค่าเสียหาย
ศาลจะได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์เรียงเป็นลำดับไป
ฎีกาข้อแรกของโจทก์นั้น ปัญหานี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้ทำบันทึกและให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาค และคณะกรรมการสอบสวนที่ได้ทำการสอบสวนโจทก์ในข้อหาว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีข้อความตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์จริง โดยบันทึกและการให้ถ้อยคำของจำเลยที่ 8มีข้อความตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ จำเลยที่ 8ทราบจากจำเลยที่ 7 และมารดาของจำเลยที่ 7 รวมทั้งทราบจากตัวของจำเลยที่ 10 ว่าจำเลยที่ 7 และที่ 10 ได้เสียเงินในการเข้าทำงานที่โรงพยาบาลให้แก่โจทก์ โจทก์มีพฤติการณ์ในเรื่องชู้สาวโดยทราบจากจำเลยที่ 9 และคนไข้ที่มาตรวจโรคที่โรงพยาบาลทราบว่าหลานชายโจทก์เป็นผู้ก่อสร้างงานก่อสร้างของโรงพยาบาล และเข้าใจว่าโจทก์มีหุ้นส่วนอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกันเคยรายงานให้จำเลยที่ 8 ทราบว่า ส้วมของโรงพยาบาลชำรุดก็ไม่มีคนงานซ่อม เพราะไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน คนขับรถยนต์ของโรงพยาบาลเคยเล่าให้ฟังว่า โจทก์นำรถยนต์ของโรงพยาบาลไปใช้สอยส่วนตัว ทราบจากพยาบาลในโรงพยาบาลว่าโจทก์เห็นแพทย์ของโรงพยาบาลที่ลาออกจากราชการไปแล้วนำคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชนเข้ามารักษาในโรงพยาบาลก็ไม่ว่ากล่าว และทราบจากจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ไม่นำเงินที่มีผู้บริจาคให้แก่โรงพยาบาลฝากเข้าบัญชีเป็นเงินบำรุงโรงพยาบาล ส่วนบันทึกและการให้ถ้อยคำของจำเลยที่ 9 มีข้อความตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.10 ความว่า โจทก์นัดจำเลยที่ 9ไปพบที่โรงแรมแล้วพยายามปลุกปล้ำจำเลยที่ 9 และเห็นโจทก์นำบุคลากรของโรงพยาบาลเอกชนมาฝึกหัดงานในโรงพยาบาล สำหรับบันทึกและการให้ถ้อยคำของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 จ.11และ จ.13 ซึ่งมีข้อความเพียงว่าการที่จำเลยที่ 10 ได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำของโรงพยาบาล ได้เสียเงินให้โจทก์ 5,000 บาทเมื่อพิเคราะห์ข้อความตามบันทึกและข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 8ถึงที่ 11 ให้ไว้ต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาค และคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ในข้อหาว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้วเห็นได้ว่าล้วนแต่เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 8ถึงที่ 11 ได้รู้เห็นในฐานะที่ทำงานอยู่ร่วมโรงพยาบาลเดียวกันกับโจทก์ หรือเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแก่จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11ด้วยตนเองทั้งสิ้น ทั้งเรื่องที่โจทก์ถูกร้องเรียนดังกล่าวจนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนนั้น คณะกรรมการสอบสวนก็ฟังว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามข้อกล่าวหาหลายประการโดยมีกรณีกระทำผิดฐานเรียกร้องและรับเงินจากจำเลยที่ 7 และที่ 10รวมอยู่ด้วยฐานมีพฤติการณ์ในการข่มขู่จำเลยที่ 9 ให้ยินยอมมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับโจทก์ ฐานนำรถยนต์ของโรงพยาบาลไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวฐานมีมลทินมัวหมองเกี่ยวกับเงินของผู้บริจาคให้แก่โรงพยาบาล รวม 3 ราย และฐานไม่ควบคุมตรวจสอบและวางระเบียบในการซื้ออาหารคนไข้ของโรงครัวโรงพยาบาลทำให้มีการทำบิลเงินสดปลอมในการซื้ออาหารแล้วนำไปเบิกเงินของทางราชการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการแล้ว ปรากฏตามคำสั่งสำนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ 2987/2521 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2521 เอกสารหมาย จ.82พฤติการณ์และข้อเท็จจริงเช่นนี้ย่อมพอถือได้ว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความจริงโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือตามวิสัยของการติชมส่วนข้อความตามบันทึกและการให้ถ้อยคำของจำเลยที่ 8บางข้อหรือในส่วนที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมิได้นำมารับฟังว่าโจทก์กระทำผิดวินัยนั้น ปรากฏว่าข้อความตามบันทึกหรือการให้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะกระทำไปโดยสุจริตตามที่ได้รับคำบอกเล่ามาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง ทั้งข้อความดังกล่าวก็มิเป็นการหมิ่นประมาทต่อโจทก์ด้วย สรุปข้อวินิจฉัยดังกล่าวมาต้องฟังว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้ทำบันทึกและให้ถ้อยคำไปโดยไม่มีข้อความที่ผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนความจริงแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ส่วนฎีกาข้อ 2 ของโจทก์ในปัญหาเรื่องไขข่าวฝ่าฝืนความจริงต่อหนังสือพิมพ์มีข้อความเป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้น ปรากฏว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้ไขข่าวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไขข่าวต่อหนังสือพิมพ์ด้วย ดังนี้แม้ข้อเท็จจริงและฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 มีส่วนร่วมกระทำการไขข่าวฝ่าฝืนความจริง ก็เป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นรับฟังมาเป็นข้อวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 8ถึงที่ 11 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่
ด้วยเหตุผลตามที่ได้วินิจฉัยมา คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อ 3ของโจทก์ในปัญหาเรื่องค่าเสียหายต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน