แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กระบวนพิจารณาคดีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 78 และ 79 ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่กฎหมายมอบหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งกระทำการแทนศาลฎีกา ส่วนความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวที่ได้ส่งมายังศาลฎีกาพร้อมกับสำนวนนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะต่อศาลฎีกาโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียจะโต้แย้งคัดค้านได้ และในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลฎีกาก็มิได้ถูกผูกมัดโดยความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวนั้นด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลฎีกาอาจจะมีคำวินิจฉัยคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังความเห็นของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่ง
ในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นศาลแพ่งมีคำสั่งว่า จะพิจารณารวมสั่งเมื่อมีคำสั่ง ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเสียเองได้
คำร้องบรรยายว่า เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งในเขต 8 กรุงเทพมหานคร ทุกหน่วยจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนของผู้ร้องและของผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผิดไปจากความจริงหรือรวมคะแนนให้ผิดไปจากความเป็นจริง โดยกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบัตรเสียให้เป็นบัตรดีจำนวน 50 คะแนน ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับคะแนนเพิ่มไปจากความเป็นจริง 50 คะแนน ดังรายละเอียดปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้งบัญชีท้ายคำร้องหมายเลข 1 และกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบัตรดีให้เป็นบัตรเสียจำนวน 690 คะแนน ดังรายละเอียดปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้ง บัญชีท้ายคำร้องหมายเลข 2 ทำให้ผู้ร้องได้คะแนนน้อยไปจากความเป็นจริง 690 คะแนน เช่นนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าวได้ตามมาตรา 78 และบัญชีท้ายคำร้องหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องก็มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง นับได้ว่าคำร้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้องและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น กรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 โดยชอบแล้ว คำร้องของผู้ร้องไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ ๘ ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ผู้ร้องเห็นว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบคือ เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนและเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งในเขต ๘ กรุงเทพมหานครทุกหน่วย จงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนของผู้ร้องและนายพิภพ อะสีติรัตน์ ให้ผิดไปจากความจริง โดยกรรมการตรวจนับคะแนนแบบประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่นายพิภพ อะสีติรัตน์ ซึ่งเป็นบัตรเสียให้เป็นบัตรดีจำนวน ๕๐ คะแนน และกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบัตรดีให้เป็นบัตรเสียจำนวน ๖๙๐ คะแนน ปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้ง บัญชีท้ายคำร้องหมายเลข ๑ และ ๒ ผู้ร้องจึงควรได้คะแนนทั้งสิ้น ๔๐,๘๓๕ คะแนน ซึ่งสูงกว่าคะแนนนายพิภพ อะสีติรัตน์ ๖๒๔ คะแนน ดังนั้นผู้ร้องจึงสมควรได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ ๘ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ขอให้ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ ๘ และให้มีการเลือกตั้งใหม่เฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกคัดค้านคือนายพิภพ อะสีติรัตน์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านที่ ๑ และนายพิภพ อะสีติรัตน์ ผู้คัดค้านที่ ๒ ต่างยื่นคำคัดค้านคำร้องปฏิเสธข้อหาตามคำร้องเป็นทำนองเดียวกันว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ ๘ นั้น เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ไม่มีการกระทำโดยมิชอบตามคำร้องของผู้ร้องแต่อย่างใดคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งได้นัดพิจารณาคำร้องในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๙ ก่อนถึงวันนัดพิจารณาคำร้อง ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙ ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมศาลแพ่งมีคำสั่งว่า สำเนาให้ผู้ร้องจะพิจารณารวมสั่งเมื่อมีคำสั่ง
ผู้คัดค้านที่ ๒ จึงยื่นฎีกาคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของศาลแพ่งขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งตามคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๙ ของผู้คัดค้านที่ ๒ โดยขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ผู้ร้องได้รับสำเนาแล้ว ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาคัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กระบวนพิจารณาคดีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา ๗๘ และ ๗๙ ว่า ให้ผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดที่เขตเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่หรือต่อศาลแพ่งสำหรับกรุงเทพมหานครเมื่อได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้า และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมและให้ทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านเสียแล้วแต่กรณีจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่กฎหมายมอบหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งกระทำการแทนศาลฎีกา ส่วนความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวที่ได้ส่งมายังศาลฎีกาพร้อมกับสำนวนนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะต่อศาลฎีกาโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียจะโต้แย้งคัดค้านได้ และในการวินิจฉัยชี้ขาดศาลฎีกาก็มิได้ถูกผูกมัดโดยความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลฎีกาอาจจะมีคำวินิจฉัยคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังความเห็นของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งก็ได้ สำหรับคดีนี้เมื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าจะพิจารณารวมสั่งเมื่อมีคำสั่งนั้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ย่อมมีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเสียเองได้ เพราะศาลแพ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดด้วยตนเองได้ นอกจากทำความเห็นส่งสำนวนมาให้ศาลฎีกามีคำสั่งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคดีมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงสมควรที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาที่ว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ ตามที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ขอให้วินิจฉัยหรือไม่
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้องโดยตลอดแล้ว เหตุที่ผู้ร้องได้คะแนนน้อยกว่าผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑๑๖ คะแนน ผู้ร้องกล่าวในคำร้องเป็นที่เข้าใจได้ว่า เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งในเขต ๘กรุงเทพมหานคร ทุกหน่วยจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนของผู้ร้องและของผู้คัดค้านที่ ๒ ให้ผิดไปจากความจริงหรือรวมคะแนนให้ผิดไปจากความเป็นจริง โดยกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นบัตรเสียให้เป็นบัตรดีจำนวน ๕๐ คะแนน ทำให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้รับคะแนนเพิ่มไปจากความเป็นจริง ๕๐ คะแนน ดังรายละเอียดปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้ง บัญชีท้ายคำร้องหมายเลข ๑ และกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบัตรดีให้เป็นบัตรเสียจำนวน ๖๙๐ คะแนน ดังรายละเอียดปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้ง บัญชีท้ายคำร้องหมายเลข ๒ ทำให้ผู้ร้องได้คะแนนน้อยไปจากความเป็นจริง ๖๙๐ คะแนน เช่นนี้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าวได้ตามมาตรา ๗๘ และเมื่อได้ตรวจพิจารณาบัญชีท้ายคำร้องหมายเลข ๑ และหมายเลข ๒ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องแล้ว เห็นว่ามีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องนับได้ว่าคำร้องนั้นได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้อง และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น กรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ โดยชอบแล้ว คำร้องของผู้ร้องหาได้เคลือบคลุมตามที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ต่อสู้แต่อย่างใดไม่
ให้ยกฎีกาของผู้คัดค้านที่ ๒ เสีย ให้ศาลแพ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ ต่อไป.