คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องเกี่ยวแก่การกระทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หาได้บัญญัติว่าต้องใช้ถ้อยคำของกฎหมายไม่โจทก์จะบรรยายถ้อยคำอย่างใดพอให้เข้าใจได้ว่า จำเลยได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดก็ใช้ได้
ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309และ มาตรา 295 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยมีจิตคิดร้ายเจตนากลั่นแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันจับมือขา กระชากและเตะโจทก์ ใส่กุญแจมือโจทก์ไพล่หลังจนโจทก์มีบาดแผลและทั้งควบคุมโจทก์ไว้ 2 คืน โจทก์ได้รับความเสียหาย” ข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ดีแล้วว่า พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำต่อโจทก์นั้น เป็นการที่จำเลยได้ข่มขืนใจให้โจทก์ต้องจำยอมต่อการกระทำของจำเลย โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพของโจทก์ และการที่จำเลยจับมือ ขา กระชากและเตะโจทก์จนมีบาดแผล ถือได้ว่าเป็นการประทุษร้ายให้เกิดอันตรายแก่กายเพราะการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นผิด จึงเป็น ฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มิได้ยกเลิกไปเสียทีเดียวเพียงแต่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 13 และยังคงเป็นบทบังคับอยู่เช่นเดิม แม้ฟ้องโจทก์อ้างแต่พระราชบัญญัติและมาตราเดิมไม่อ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็นบทลงโทษก็ใช้ได้ ถือว่าเป็นหน้าที่ของศาลต้องรู้เองศาลย่อมมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 157 ที่แก้ไขได้
โจทก์ได้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ความผิดที่โจทก์กระทำเป็นแต่เพียงความผิดฐานลหุโทษ ฐานฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เก็บค่าดูจากประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทุกคนรู้จักหลักแหล่งของโจทก์แล้ว จึงไม่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(2)การที่จำเลยทั้งหมดผู้เป็นเจ้าพนักงานไปทำการจับกุมโจทก์ในที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมาย จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิป้องกันการจับกุมได้และการที่จำเลยทั้งหมดควบคุมโจทก์จากโรงภาพยนตร์ไปสถานีตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการหน่วงเหนี่ยวโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๕ คน เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนิคมหัวงิ้ว จังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมกันควบคุมโจทก์โดยไม่มีหมายจับในข้อหาว่าใช้สถานที่เป็นโรงมหรสพฉายภาพยนตร์ไม่รับอนุญาตในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จำเลยมีจิตคิดร้ายเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยร่วมกันจับมือและขาโจทก์กระชาก เตะโจทก์แล้วล้วงเอาเงิน ๗๐ บาทจากกระเป๋ากางเกงโจทก์ใช้กุญแจมือใส่ข้อมือโจทก์ไพล่หลัง บาดแผลโจทก์ตามสำเนาการตรวจบาดแผลท้ายฟ้องแล้วร่วมกันควบคุมโจทก์ไปควบคุมที่สถานีตำรวจ ๒ คืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๔๐, ๒๙๕, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การร่วมกันว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ครบองค์ความผิดจึงไม่สมบูรณ์ จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้กระทำผิดดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๑๐ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓แต่ไม่สมบูรณ์ในข้อหาความผิดตามมาตรา ๓๐๙, ๓๔๐, ๒๙๕ และวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์นำสืบมาจำเลยไม่เป็นความผิดและมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายครบถ้วนตามองค์ความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๐๙, ๓๑๐, ๒๙๕ แต่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา ๓๔๐ และเชื่อว่าจำเลยได้กระทำผิด พิพากษาแก้ว่า จำเลยทั้ง ๕คนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ที่แก้ไขใหม่มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐, ๒๙๕, ๘๓ ให้ลงโทษกระทงหนักที่สุดตามมาตรา ๑๕๗ที่แก้ไขใหม่ จำคุกคนละ ๑ ปี ปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำรอไว้ภายใน ๒ ปีตามมาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษ
จำเลยทั้งห้าฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการข่มขืนใจให้โจทก์กระทำการหรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงทรัพย์สินของโจทก์ ทั้งยังบรรยายว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจอันเป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๙ อีกทั้งความผิดตามมาตรา ๒๙๕ ฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทำร้ายโจทก์เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ นั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า การบรรยายฟ้องเกี่ยวแก่การกระทำนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) บัญญัติว่าต้องมี “การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด” หาได้บัญญัติว่าต้องใช้ถ้อยคำของกฎหมายไม่ โจทก์จะบรรยายถ้อยคำอย่างใดพอให้เข้าใจได้ว่าจำเลยได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดก็ใช้ได้ เฉพาะคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีจิตคิดร้ายเจตนากลั่นแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันจับมือ ขา กระชากและเตะโจทก์ใส่กุญแจข้อมือโจทก์ไพล่หลัง จนโจทก์มีบาดแผล และทั้งควบคุมโจทก์ไว้ ๒ คืน โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ดีแล้วว่า พฤติการณ์ที่จำเลยกระทำต่อโจทก์นั้นเป็นการที่จำเลยได้ข่มขืนใจให้โจทก์ต้องจำยอมต่อการกระทำของจำเลย โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพของโจทก์ การที่จำเลยจับมือ ขา กระชากและเตะโจทก์จนมีบาดแผลถือได้ว่าเป็นการประทุษร้ายให้เกิดอันตรายแก่กายโจทก์ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการเจตนากระทำซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นผิด จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ นั้นโจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษ จึงเท่ากับไม่ได้อ้างกฎหมายมาเลย นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ มิได้ยกเลิกไปเสียทีเดียวเพียงแต่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ และยังคงมีเป็นบทบังคับอยู่เช่นเดิม แม้ฟ้องโจทก์อ้างแต่พระราชบัญญัติและมาตราเดิมไม่อ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็นบทลงโทษก็ใช้ได้ถือว่าเป็นหน้าที่ของศาลต้องรู้เอง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ที่แก้ไขได้
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้ไปจับโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลโดยไม่มีหมายจับในห้องฉายภาพยนตร์อันเป็นที่รโหฐานขณะที่ฉายภาพยนตร์โดยเก็บค่าดูจากประชาชน โดยโจทก์ไม่ได้รับอนุญาต อันความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่การเล่นมหรสพฯ การจับกุมและควบคุมโจทก์ไปสถานีตำรวจ จำเลยได้ใส่กุญแจมือโจทก์ไพล่หลังมีปัญหาเบื้องต้นว่า จำเลยมีอำนาจจับโจทก์ในที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายจับหรือไม่
พิเคราะห์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๑(๑)และ ๙๒(๒) และ ๙๖(๒) แล้ว มีปัญหาว่า กรณีของคดีนี้เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือไม่ เห็นว่าแม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ความผิดที่โจทก์กระทำก็เป็นแต่เพียงความผิดฐานลหุโทษซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน ๕๐ บาทจำเลยทุกคนรู้จักโจทก์ตลอดบ้านเรือนโจทก์ดีอยู่แล้ว เพราะอยู่ห่างสถานีตำรวจนิคมหัวงิ้วเพียง ๓ เส้นเท่านั้นข้อ เท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยทุกคนรู้จักหลักแหล่งของโจทก์แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๖(๒) ฉะนั้นการที่จำเลยทั้งหมดผู้เป็นเจ้าพนักงานไปทำการจับกุมโจทก์ในที่รโหฐานในเวลากลางคืน จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย แม้ข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์ทำการขัดขืนการจับกุมโดยชักปืนออกมาเพื่อจะต่อสู้ขัดขวางจำเลยที่เข้ามาจับกุม ก็พอถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของโจทก์ให้พ้นภยันตรายพอสมควรแก่เหตุ ฉะนั้น การที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันเข้าจับกุมโจทก์ใช้กุญแจใส่ข้อมือไพล่หลัง จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และพฤติการณ์เช่นนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้จำยอมต่อการกระทำของจำเลยทั้งหมดโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนโจทก์ผู้ถูกข่มขืนใจต้องไปกับจำเลย จนปรากฏว่าข้อมือทั้งสองข้างเป็นแผลถลอก และการที่จำเลยทั้งหมดควบคุมโจทก์จากโรงภาพยนตร์ไปสถานีตำรวจนิคมหัวงิ้วซึ่งห่างไป ๓ เส้น ก็ถือได้ว่าเป็นการหน่วงเหนี่ยวโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเช่นกัน
พิพากษายืน

Share