คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2791/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกประกาศห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 บางชนิด.ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคมทุกปีโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วกัน. จำเลยได้ทราบประกาศแล้วบังอาจใช้ปืนมีทะเบียนของ บ. ยิงวัวแดง 1 ตัว โดยมิได้รับอนุญาต จำเลยให้การปฏิเสธ แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบว่าจำเลยได้ทราบประกาศกระทรวงเกษตรดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นการสืบไม่สมฟ้อง เพราะประกาศนั้นได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไป รวมทั้งจำเลยด้วย โจทก์จึงมิต้องนำสืบอีก
ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบปืนที่จำเลยใช้ล่าวัวแดง อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ได้ตามมาตรา 47 ที่จำเลยอ้างว่าเป็นปืนมีทะเบียน และเจ้าของปืนยังไม่ได้ร่วมในการกระทำผิดนั้น เรื่องเจ้าของปืนร่วมกระทำผิดหรือไม่ มิได้มีประเด็นที่จะนำสืบกันในคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 4 ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ระบุว่าวัวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 บางชนิด ในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคมทุกปีโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วกัน จำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2513 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนไรเฟิลหมายเลขทะเบียน ก.จ.3/3816 ของนายเบี้ยว ยิงวัวแดง 1 ตัวในบริเวณป่าด่านแม่แฉลบโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และจำเลยที่ 1 บังอาจมีอาวุธปืนไรเฟิลของนายเบี้ยวกับกระสุน 15 นัด ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยอาวุธปืนและกระสุนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 9, 39, 47 กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 2 ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดระยะเวลาห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 บางชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 1(2) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้คืนอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าทรัพย์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 9, 39กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 2 ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดระยะเวลาห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 บางชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 1(2)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 อีกด้วย ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 ซึ่งเป็นกระทงหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ อาวุธปืนของกลางให้ริบเสียตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และริบกระสุนของกลาง ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 39 ปรับ 1,000 บาท

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันล่าวัวแดงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 ในระยะเวลาที่ห้ามล่า โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไรเฟิลของกลางซึ่งใช้ยิงวัวแดงดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงว่าจำเลยได้ทราบประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดระยะเวลาห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครองประเภท 2 เป็นการสืบไม่สมฟ้องนั้น ว่า ประกาศกระทรวงเกษตรดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมถือได้ว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยด้วย โจทก์จึงมิต้องนำสืบ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าอาวุธปืนของกลางมีเลขหมายทะเบียนศาลสั่งริบไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น วินิจฉัยว่าศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้ริบปืนที่ใช้ล่าวัวแดงและถูกยึดไว้เป็นของกลางได้ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 เพราะปืนไรเฟิลเป็นอาวุธซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำผิด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัตินี้ ที่จำเลยอ้างว่าเจ้าของปืนยังไม่ได้ร่วมในการกระทำผิดนั้น เห็นว่าเรื่องเจ้าของปืนร่วมกระทำผิดหรือไม่มิได้มีประเด็นที่จะนำสืบกันในคำนี้

พิพากษายืน

Share