คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิม จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องบิดาโจทก์เป็นจำเลย อ้างว่าบิดาโจทก์อาศัยปลูกเรือนและรั้วในที่ดินของจำเลย ขอให้บิดาโจทก์รื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป บิดาโจทก์ต่อสู้ว่าปลูกสร้างในที่ดินของตนเอง ศาลล่างพิพากษาให้บิดาโจทก์แพ้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนหนึ่งของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ประเด็นในคดีก่อนมีว่าสิ่งปลูกสร้างของบิดาโจทก์อยู่ในที่ดินของจำเลยหรือไม่ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์ครอบครองที่ดินของจำเลยโดยปรปักษ์หรือไม่อันเป็นประเด็นคนละอย่างต่างกัน ทั้งโจทก์ในคดีนี้ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แม้โจทก์คนหนึ่งในคดีนี้จะเข้าแทนที่บิดาโจทก์ผู้มรณะในคดีก่อนนั้น ก็ไม่มีผลให้โจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกคนครอบครองที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗ ตำบลอัมพวาอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ โดยได้รับมาจากบิดาโจทก์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่ยังมิได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของจำเลยโต้แย้งว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองนั้นอยู่ในเขตโฉนดของจำเลยเป็นเนื้อที่ ๓๐ ตารางวา เป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ ที่ดินที่จำเลยโต้แย้งนี้โจทก์ได้ครอบครองโดยสุจริต ด้วยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว แม้จะเป็นที่ดินในเขตโฉนดของจำเลย โจทก์ก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ตารางวาเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๔๘๖ ตำบลอัมพวา เขตที่ดินของจำเลยบางส่วนทางด้านทิศตะวันตกติดต่อกับที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสินธ์ กฤตนันท์บิดาโจทก์ บิดาโจทก์ไม่เคยยกให้ผู้ใด โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินของบิดาโจทก์ เมื่อบิดาโจทก์ตาย โจทก์จึงเข้าใช้สิทธิในที่พิพาท เมื่อวันที่ ๘สิงหาคม ๒๕๑๒ จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายสินธ์และบริวารมิให้อาศัยในที่พิพาท ปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๗๕/๒๕๑๓ ของศาลจังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างดำเนินคดีนายสินธ์ กฤตนันท์ตายโจทก์ในคดีนี้และบุตรทุกคนของผู้ตายต่างยินยอมให้นายพิมล กฤตนันท์บุตรชายคนโตและมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ารับมรดกความฉะนั้น โจทก์ในคดีนี้และบุตรผู้ตายทุกคนจึงเป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ ๗๕/๒๕๑๓ ด้วย คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดที่ ๔๘๖ ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ในคดีนี้ต้องผูกพันในผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพร้อม โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงในบางประการแล้วศาลชั้นต้นสั่งให้ทำแผนที่พิพาท
ในวันชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่าฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔
ศาลชั้นต้นสั่งให้งดชี้สองสถานแล้ววินิจฉัยว่า คดีก่อนถือว่านายสินธ์บิดาโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์เกี่ยวกับที่ดินที่พิพาทโจทก์มาฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่พิพาทนี้อีก เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓(๑) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ในคดีนี้ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีแรกด้วยและฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ ด้วย พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีก่อน คือ คดีหมายเลขแดงที่ ๗๕/๒๕๑๓ศาลชั้นต้น นางนิสา สุริยัน จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องนายสินธิ์ กฤตนันท์บิดาของโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย อ้างว่านายสินธ์เข้าไปอาศัยปลูกเรือนและรั้วในที่ดินโฉนดที่ ๔๘๖ ของนางนิสาโจทก์ ขอให้นายสินธ์จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปห้ามนายสินธ์และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง นายสินธ์จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยปลูกสร้างในที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗ ของจำเลยเอง ไม่ได้อาศัยนางนิสาประเด็นในคดีนั้นจึงมีว่าสิ่งปลูกสร้างของนายสินธ์อยู่ในเขตโฉนดที่ ๔๘๖ของนางนิสาหรือไม่ส่วนคดีนี้โจทก์อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ ๔๘๖ ของนางนิสา ประเด็นมีว่าโจทก์ในคดีนี้ครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาโดยสงบและเปิดเผยเกิน ๑๐ ปี อันจะได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ ประเด็นจึงเป็นคนละอย่างต่างกันทั้งโจทก์ในคดีนี้ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน ส่วนที่นายพิมลเข้าไปแทนที่นายสินธ์จำเลยผู้มรณะในคดีก่อนนั้น ก็ไม่มีผลให้โจทก์ในคดีนี้เป็นคู่ความในคดีก่อนด้วย แม้คำพิพากษาในคดีก่อนจะใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของนายสินธ์ที่อยู่บนที่ดินนั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๔๒(๑) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ตามแต่ความในมาตรา ๑๔๒(๑)นั้นเอง ก็บัญญัติให้สิทธิแก่วงศ์ญาติและบริวารในอันที่จะพิสูจน์แสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้เพื่อไม่ให้ตนต้องถูกบังคับตามคำพิพากษานั้นโจทก์ซึ่งเป็นวงศ์ญาติหรือบริวารของนายสินธ์จึงย่อมมีสิทธิที่จะพิสูจน์แสดงอำนาจพิเศษของตนให้ศาลเห็นได้ นอกจากนี้ตามมาตรา ๑๔๕(๒)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งยังบัญญัติให้บุคคลภายนอกพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ตามฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่า ซึ่งกฎหมายยอมให้พิสูจน์ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๓๒/๒๕๑๐)การยื่นฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เข้าลักษณะอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ และกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓(๑) ดังจำเลยฎีกา กล่าวคือ ตามนัยแห่งมาตรา ๑๗๓(๑) นั้น ห้ามโจทก์ที่ได้ฟ้องคดีหนึ่งไว้แล้วคดียังไม่ถึงที่สุด นำเรื่องเดียวกันนั้นไปฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่ง แต่โจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นโจทก์หรือเป็นคู่ความในคดีก่อน
พิพากษายืน

Share