คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาต่างตอบแทน โดยยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยานอกจากจะระบุยกทรัพย์สินบางรายการให้แก่กันและกันแล้ว ยังมีข้อตกลงเรื่องหนี้สินของ ป. มารดาโจทก์ ท. และ บ. พี่โจทก์ซึ่งจำเลยยินยอมรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่บุคคลทั้งสามด้วย เป็นผลให้มีฐานะเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามโดยชำระหนี้ให้แก่ ป. ท. และ บ. โจทก์ในฐานะคู่สัญญาโดยตรงกับจำเลยย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันได้
ป. ท. และ บ. เป็นโจทก์ในคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น โดยมีโจทก์คดีนี้เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทน ส่วนโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยใช้สิทธิของตนเองในฐานะคู่สัญญาเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีแพ่งอีกคดีหนึ่งได้วินิจฉัยว่าบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไม่ใช่หลักฐานการกู้เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ป. ท. และ บ. ไม่อาจนำมาฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระหนี้โดยอ้างว่าจำเลยกู้ไปจากตนได้ การที่โจทก์นำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามาฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนการหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งสินสมรส โดยจำเลยยินยอมให้เงินโจทก์ จำนวน 149,000 บาท เพื่อนำไปใช้หนี้บุคคลอื่นแต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 149,000 บาท พร้อมค่าเสียหายจำนวน 60,750 บาท และค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 149,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับหนี้ของบุคคลอื่นจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ บันทึกข้อตกลงต่อท้ายทะเบียนการหย่าที่โจทก์นำมาฟ้อง นางปลิว บางแสง นางประทีป วิริยะเวช และนางสาวบุปผา บางแสง เคยมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องจำเลย ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 903 – 905/2539 ของศาลชั้นต้น การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและจำเลยลงชื่อในบันทึกดังกล่าวเพราะโจทก์ใช้กลฉ้อฉลและขืนใจ ข้อตกลงในส่วนที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นโมฆียะ จำเลยขอบอกล้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 149,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ แต่เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเพียงทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ รวม 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าโดยทำบันทึกข้อความท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 แบ่งทรัพย์สินระหว่างกันรวมทั้งมีข้อความระบุว่า หนี้สินของนางปลิว บางแสง มารดาโจทก์เป็นเงิน 59,000 บาท หนี้สินของนางประทีป วิริยะเวช พี่โจทก์ เป็นเงิน 50,000 บาท และหนี้สินของนางสาวบุปผา บางแสง พี่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยยินยอมชดใช้แต่เพียงผู้เดียว จำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าว นางปลิว นางประทีป และนางสาวบุปผาฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 903 – 905/2539 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากความตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาต่างตอบแทน โจทก์จำเลยยอมหย่าขาดโดยนอกจากจะระบุยกทรัพย์สินบางรายการให้แก่กันและกันแล้ว ยังมีข้อตกลงเรื่องหนี้สินของนางปลิว มารดาโจทก์ นางประทีปและนางสาวบุปผาพี่โจทก์ซึ่งจำเลยยินยอมรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่บุคคลทั้งสามด้วย เป็นผลให้นางปลิว นางประทีปและนางสาวบุปผามีฐานะเป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อตกลงในส่วนนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าโดยชำระหนี้ให้แก่นางปลิว นางประทีปและนางสาวบุปผา โจทก์ในฐานะคู่สัญญาโดยตรงกับจำเลยย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันได้ นางปลิว นางประทีป และนางสาวบุปผาเป็นโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 903 – 905/2539 ของศาลชั้นต้น โจทก์คดีนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีดังกล่าวแทน ส่วนโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยใช้สิทธิของตนเองในฐานะคู่สัญญาเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างเป็นเรื่องคู่ความนำเอาสัญญากู้ที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องมาใช้อ้างและศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีก่อนมาปิดอากรแสตมป์แล้วนำสัญญากู้นั้นกลับมาอ้างเป็นพยานหลักฐานฟ้องใหม่ในคดีหลัง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ สำหรับบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 903 – 905/2539 ของศาลชั้นต้น ซึ่งวินิจฉัยว่าบันทึกดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานการกู้เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นางปลิว นางประทีป และนางสาวบุปผาไม่อาจนำมาฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินโดยอ้างว่าจำเลยกู้ไปจากตนได้นั้น โจทก์นำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.1 มาฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างเป็นกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยในปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วซึ่งย่อมต้องยุติไปตามนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ทุนทรัพย์แห่งคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชั้นศาลละ 209,750 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชั้นศาลละ 5,245 บาท แต่โจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 คิดคำนวณจากทุนทรัพย์แห่งคดีชั้นศาลละ 216,050 บาท คิดเป็นเงินค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชั้นศาลละ 5,402.50 บาท และโจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาลในอนาคตในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 อีกชั้นศาลละ 100 บาท ซึ่งค่าขึ้นศาลในอนาคตนี้ไม่ต้องเสียเพราะเป็นการเรียกค่าเสียหายต่อเนื่องหลังวันฟ้อง กรณีจึงเป็นการที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกินมาชั้นศาลละ 257.50 บาท รวมโจทก์เสียค่าขึ้นศาลเกินมา 515 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์เสียเกินมาให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์และให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่โจทก์เสียเกินมารวม 515 บาท แก่โจทก์

Share