แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตามมาตรา 228 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นั้น จำเลยจะต้องมีเจตนาให้เกิดอุทกภัยโดยตรง จะยกเอาการเล็งเห็นผลของการกระทำตามมาตรา 59 วรรค 2 มาใช้ไม่ได้
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2504
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจร่วมกันทำทำนบปิดกั้นน้ำในคลองสาธารณมิให้น้ำไหลผ่านไปโดยสะดวก ทำให้น้ำท่วมสวนยางพาราและไร่นาของบุคคลอื่นเสียหาย ขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๘, ๘๓ จำคุกคนละ ๓ เดือน ปรับคนละ ๙๐๐๐ บาท ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุกคนละ ๒ เดือน ปรับคนละ ๖๐๐ บาท โทษจำให้รอไว้ ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำทำนบปิดกั้นน้ำในลำคลองสาธารณขึ้นใหม่ ไม่ใช่ซ่อมแซมทำนบเก่าดังที่จำเลยต่อสู้ จำเลยทำทำนบสูงเสมอตลิ่ง น้ำจึงได้ท่วมที่สวนที่นาของผู้เสียหาย ต้นยางตายเป็นจำนวนมากและที่นาก็ทำนาไม่ได้ ก่อนที่จำเลยจะทำทำนบเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมที่สวนที่นาเพียงวันสองวันก็แห้งลงคลองไป ไม่ถึงกับทำให้ต้นยางตาย
ปัญหามีว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๒๘ หรือไม่ มาตรา ๒๒๘ บัญญัติว่า ” ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้เกิดอุทกภัย… ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น…” ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เพื่อให้เกิดอุทกภัยตามมาตรานี้จำเลยจะต้องมีเจตนาให้เกิดอุทกภัยโดยตรง จะยกเอาการเล็งเห็นผลของการกระทำตามมาตรา ๕๙ วรรค ๒ มาใช้ไม่ได้ แต่เจตนาของบุคคลเป็นเรื่องในใจ ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป เป็นเครื่องชี้เจตนา สำหรับเรื่องนี้ตามพฤติการณ์ที่กล่าวข้างต้น แสดงว่าการทำทำนบปิกั้นคลองของจำเลยเพื่อเจตนาจะให้เกิดอุทกภัยเพราะนาจำเลยอยู่ในที่สูง สวนยางและนาผู้เสียหายอยู่ในที่ต่ำกว่า จำเลยย่อมตั้งใจให้เกิดอุทกภัยแก่สวนและนาของผู้เสียหาย น้ำจึงจะไหลเข้าถึงนาของจำเลย ยิ่งกว่านี้ เมื่อเกิดอุทกภัยแล้วทางการสั่งให้เปิดทำนบ จำเลยก็ไม่ยอมเปิด แสดงให้เห็นชัดว่าจำเลยเจตนาทำให้เกิดอุทกภัยตลอดมา จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๘
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น