แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นกฎหมายที่คุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายจึงให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอางจะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร
โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างบางส่วนคือ ท. กับพวกรวม 444 คน หยุดงานชั่วคราวเป็นระยะ ๆ จำนวน 17 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 คน รวม 31 วัน แม้โจทก์จะอ้างว่ายอดสั่งซื้อสินค้าลดลง แต่ลักษณะการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวของโจทก์เป็นการคาดหมายว่าจะประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าซึ่งไม่มีความแน่นอน ประกอบกับโจทก์มีปัญหาด้านแรงงานกับลูกจ้าง และบางครั้งโจทก์ขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของโจทก์เป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของโจทก์เองที่ขาดการวางแผนที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ส่วนจำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยได้วินิจฉัยคำร้องทุกข์ของพนักงานของโจทก์ที่มาร้องทุกข์โดยมีคำสั่งที่ 14/2546 ลงวันที่ 22 เมษายน 2546 ให้โจทก์ในฐานะนายจ้างจ่ายค่าจ้างส่วนที่ค้างอยู่ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานตามปกติระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 จำนวน 31 วัน ให้แก่ลูกจ้างผู้ร้องกับพวกรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,217,099.91 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง โจทก์จึงมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยมิจำต้องจ่ายเงินอีกร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานปกติในระหว่างวันดังกล่าว ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 14/2546 ลงวันที่ 22 เมษายน 2546
จำเลยให้การว่า คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 14/2546 ลงวันที่ 22 เมษายน 2546 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกล่าวอ้างของโจทก์ว่าคำสั่งซื้อสินค้าลดลงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โจทก์ไม่อาจอ้างเหตุความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 ว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องคำนวณไฟฟ้า (คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์) นายทองเอื้อ อุ่นเรือง กับพวกรวม 444 คน ทำงานเป็นลูกจ้างมีอายุงาน ตำแหน่งงาน และอัตราค่าจ้าง ตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งของจำเลยหมายเลข 1 และ 2 โดยเป็นลูกจ้างรายเดือน 18 คน ลูกจ้างรายวัน 426 คน กำหนดจ่ายค่าจ้างลูกจ้างรายเดือน เดือนละครั้งทุกวันสิ้นเดือนกำหนดจ่ายค่าจ้างลูกจ้างรายวันเดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 โจทก์มีโรงงานผลิตคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 โรงงาน ในประเทศไทยมี 1 โรงงาน การผลิตสินค้าบริษัทโจทก์จะผลิตตามความต้องการของลูกค้า และลูกจ้างจะเป็นผู้เลือกว่าจะให้โรงงานของโจทก์ในประเทศใดเป็นผูผลิต โดยพิจารณาจากราคาสินค้า สถานที่ผลิตชิ้นส่วนประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงรวมทั้งการส่งมอบสินค้าที่ตรงต่อเวลา โจทก์ไม่สามารถเลือกลูกค้าได้เอง ในแต่ละปีโจทก์มีการวางแผนการผลิตล่วงหน้าให้สอดคล้องกับคำสั่งการผลิต โดยพิจารณาจากปัจจัยกำลังคน กำลังการผลิตของเครื่องจักร วันทำงาน ประมาณการการสั่งซื้อสินค้าในกรณีที่มีการสั่งซื้อสินค้ามากเกินกว่าแผนการผลิตที่กำหนดไว้ โจทก์จะพิจารณาให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดและในกรณีที่มีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยกว่าแผนการผลิตที่กำหนดไว้โจทก์จะให้ลูกจ้างหยุดการทำงานในบางวัน โดยประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าทุกครั้ง พร้อมทั้งจ่ายเงินให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดเวลาที่สั่งหยุด อย่างไรก็ตามในวันที่โจทก์สั่งให้ลูกจ้างหยุดการทำงาน โจทก์ได้ให้ลูกจ้างบางส่วนมาทำงานตามปกติเพื่อยิงตัวอักษรบนแป้นคีย์บอร์ดให้ทันกับยอดสั่งซื้อสินค้า ยิงตัวอักษรแทนอักษรที่ผลิตแล้วไม่ชัดเจน ทำตัวอย่างสินค้าหรือซ่อมแซมเครื่องจักร ทำบัญชีค่าจ้างและปิดบัญชี โดยจะให้ลูกจ้างแผนกต่าง ๆ มาช่วย ได้แก่ แผนกเลเซอร์ยิงตัวอักษร แผนกเอ็นจิเนียริ่ง แผนกบุคคลและแผนกบัญชี รวมแต่ละครั้งที่มีการสั่งหยุดงาน โจทก์จะให้ลูกจ้างบางส่วนมาทำงานครั้งละประมาณ 30 คน ในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ได้ประกาศให้ลูกจ้างหยุดการทำงาน 17 ครั้ง รวม 31 วัน และจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างในวันทำงานปกติ โดยชี้แจงเหตุผลการสั่งหยุดงานว่ายอดการสั่งซื้อสินค้ามีจำนวนลดลงทำให้กระบวนการผลิตสินค้าลดลงตามจำนวนประกอบกับโจทก์มีปัญหาแรงงานกับลูกจ้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2545 เป็นต้นมา โจทก์ไม่สามารถตกลงกับลูกจ้างในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวันทำงาน เวลาทำงาน และวันหยุด กรณียอดสั่งซื้อสินค้ามาก โจทก์จะขอให้ลูกจ้างมาทำงานและเลื่อนไปหยุดในวันอื่นแทนซึ่งถ้าให้ลูกจ้างมาทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ราคาสินค้าจะสูงขึ้นผลกระทบทำให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าน้อยลง เวลาทำงานปกติของลูกจ้างน้อยลงกว่าเดิม คือเดิมเวลาทำงาน 8 ถึง 17.40 นาฬิกา เป็น 8 ถึง 17 นาฬิกา ลูกค้าต่างประเทศทราบข่าวจากสำนักงานใหญ่ประเทศไต้หวันว่ามีปัญหาแรงงานเกิดขึ้นกับโจทก์ในประเทศไทยทำให้ขาดความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าในกระบวนการผลิต จึงทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง และบางช่วงโจทก์ขาดวัตถุดิบ เนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต โจทก์จำเป็นต้องประกาศหยุดงานเพื่อให้คำสั่งการผลิตสอดคล้องกับจำนวนการสั่งซื้อสินค้า ในปี 2545 โจทก์มีการจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 2,700,000 บาท
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่โจทก์ให้ลูกจ้างของโจทก์หยุดงานในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 จำนวน 17 ครั้ง รวม 31 วัน เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไปเพื่อการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้างจึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการของนายจ้างมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ในระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างบางส่วนคือนายทองเอื้อ อุ่นเรือง กับพวกรวม 444 คน หยุดงานชั่วคราวเป็นระยะ ๆ จำนวน 17 ครั้ง ครั้งหนึ่งไม่เกิน 2 วัน รวม 31 วัน แม้โจทก์จะอ้างว่ายอดสั่งซื้อสินค้าลดลงก็ตาม ลักษณะการสั่งให้หยุดงานชั่วคราวของโจทก์ดังกล่าวเป็นการหยุดงานตามที่โจทก์คาดหมายว่าจะประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าซึ่งไม่มีความแน่นอน ประกอบกับโจทก์มีปัญหาด้านแรงงานกับลูกจ้าง และบางครั้งโจทก์ขาดวัตถุดิบเนื่องจากไม่ได้กักตุนวัตถุดิบไว้ ความจำเป็นในการหยุดงานชั่วคราวของโจทก์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการของโจทก์เองที่ขาดการวางแผนงานที่ดีและมีปัญหาด้านแรงงาน มิใช่เป็นเหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน