คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททุกชนิด และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ต่อมามีการตรวจพบสารเสพติดให้โทษประเภทเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและเปลี่ยนโทษจากรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2จำนวน 1 เม็ด หนัก 0.07 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6,62, 106

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 (ที่ถูก 62 วรรคหนึ่ง), 106 (ที่ถูก 106วรรคหนึ่ง) จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททุกชนิด ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานว่า วันที่ 5 สิงหาคม 2540 พนักงานคุมประพฤติเก็บปัสสาวะของจำเลยไปตรวจ ปรากฏว่าพบสารเสพติดให้โทษประเภทเมทแอมเฟตามีน แสดงว่าจำเลยได้เสพสารเสพติดดังกล่าวภายใน 10 วัน ก่อนมารายงานตัว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อสอบถามวันที่ 8 ธันวาคม 2540 จำเลยไปศาลชั้นต้นขอยอมรับผิดและแถลงว่า ไม่ได้เสพยาเสพติดอีกแล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นให้โอกาสอีกครั้ง โดยจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลชั้นต้นและข้อกำหนดของพนักงานคุมประพฤติอย่างเคร่งครัด ศาลชั้นต้นให้พนักงานคุมประพฤติเก็บปัสสาวะของจำเลยไปตรวจพิสูจน์และให้รายงานผลการตรวจพิสูจน์ในตอนบ่ายของวันนัดพร้อมปรากฏว่าพบสารเสพติดให้โทษประเภทเมทแอมเฟตามีน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามโทษซึ่งรอการลงโทษไว้นั้น

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททุกชนิดและให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ต่อมามีการตรวจพบสารเสพติดให้โทษประเภทเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกเลิกการคุมความประพฤติและเปลี่ยนโทษจากรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ การที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share