คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยได้ภายหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 2 ปีก็ตาม แต่โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองและ อ.เบิกความเป็นพยานตรงกันว่า คืนเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองอ.และว. นั่งดื่มสุรากันอยู่ที่ร้านค้า จำเลยเดินเข้ามาหาผู้เสียหายที่ 1 พร้อมจ้องอาวุธปืนไปที่หน้าอกผู้เสียหายที่ 1 แล้วยิงทันที 3 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นผู้เสียหายที่ 2 และ อ. วิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยแล้วเสียงปืนก็ดังขึ้น ผู้เสียหายที่ 2 ถูกกระสุนปืนที่ศีรษะขณะนั้นจำเลยยืนห่างผู้เสียหายทั้งสองและ อ. ประมาณ3 เมตร ในบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้านีออนขนาด 40 แรงเทียนอยู่ที่หน้าร้านเกิดเหตุ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 3 เมตรแสดงว่าในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอที่ทำให้ผู้เสียหายทั้งสอง และ อ. เห็นหน้าจำเลยได้ชัดเจน ทั้งผู้เสียหายที่ 1และ อ. รู้จักจำเลยมาก่อน นอกจากนี้ภายหลังเกิดเหตุแล้วในวันรุ่งขึ้นซึ่งแทบจะทันทีทันใดกับเหตุเกิดแล้วสด ๆผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความระบุว่า จำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง หากผู้เสียหายที่ 2 จำจำเลยไม่ได้ก็คงจะไม่ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้เป็นแน่จึงเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองและ อ. จำจำเลยได้ ส่วน ก.และ ร. เป็นพนักงานสอบสวนผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความว่าได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นแก่จำเลย จำเลยให้การรับสารภาพโดยมีผู้เสียหายทั้งสอง และ อ. ชี้ตัวต่างก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายเมื่อ ก. และ ร. พยานโจทก์ต่างก็เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีหน้าที่สืบสวน ตรวจค้น จับกุมและสอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายได้ปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่ทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งกล่าวหาจับกุมและสอบสวนจำเลย อีกทั้งจำเลยได้ให้การถึงเหตุการณ์นับแต่จำเลยกับพวกออกจากบ้านจนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองแล้วหลบหนีไป แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจมิได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญบังคับ ตามพฤติการณ์พยานหลักฐานโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้จริง พยานจำเลยไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคสาม และมาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ วรรคสองจำคุกกระทงละ 1 ปี และ 6 เดือนตามลำดับ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน ดังนี้การที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีอาวุธปืนสั้นไม่ทราบชนิดและยี่ห้อจำนวน 1 กระบอก ใช้ยิงได้ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและมีกระสุนปืนจำนวน 4 นัด ซึ่งใช้ยิงร่วมกับอาวุธปืนดังกล่าวได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านและตามถนนสาธารณะภายในหมู่บ้านเต่างอยเหนือโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่เป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายกันยะสูตร เกิดทวีผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 4 นัด โดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืน 2 นัดแรกไม่ลั่น และกระสุนปืนนัดที่ 4 ไม่ถูกผู้เสียหายที่ 1 แต่พลาดไปถูกนายยุทธศิลป์ กบิลพัฒน์ ผู้เสียหายที่ 2 บริเวณศีรษะ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60, 80, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ให้จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนฯให้จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในความผิดฐานพยายามฆ่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษเฉพาะข้อหานี้ให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 คงให้จำคุกฐานพยายามฆ่า 6 ปี 8 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี พยายามฆ่า 6 ปี 8 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม และมาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ วรรคสอง จำคุกกระทงละ 1 ปี และ 6 เดือน ตามลำดับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์ฟ้อง ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองกับพวกรวม 4 คน นั่งดื่มสุรากันอยู่ที่ร้านค้าตรงข้ามโรงภาพยนตร์ล้อมผ้าตุ่นรามา มีคนร้ายเข้ามาใช้อาวุธปืนสั้นจ้องยิงผู้เสียหายที่ 1 สามนัดแต่กระสุนปืนไม่ลั่น ผู้เสียหายที่ 2กับพวกเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากคนร้าย คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงอีก1 นัด กระสุนปืนถูกที่ศีรษะผู้เสียหายที่ 2 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องเห็นว่า แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยได้ภายหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 2 ปีก็ตาม แต่โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์เกิดทวี เบิกความเป็นพยานตรงกันว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ22 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสอง นายอนุภาษณ์และนายวิชิตนั่งดื่มสุรากันอยู่ที่ร้านค้าของนายอุทิศ จำเลยเดินเข้ามาถามผู้เสียหายที่ 1 ว่าชื่อเป๊กใช่ไหมพร้อมจ้องอาวุธปืนไปที่หน้าอกผู้เสียหายที่ 1 แล้วยิงทันที 3 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นผู้เสียหายที่ 2 และนายอนุภาษณ์ลุกขึ้นวิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยแล้วเสียงปืนก็ดังขึ้น ผู้เสียหายที่ 2 ถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์เป็นประจักษ์พยาน ขณะที่จำเลยถามผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยยืนห่างผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์ประมาณ 3 เมตรนอกจากนี้ในบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้านีออนขนาด 40 แรงเทียนอยู่ที่หน้าร้านเกิดเหตุ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 3 เมตรแสดงว่าในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอที่ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์เห็นหน้าจำเลยได้ชัดเจน ทั้งผู้เสียหายที่ 1 และนายอนุภาษณ์รู้จักจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์จำจำเลยได้ และได้ความจากร้อยตำรวจเอกจำเนียรสกลอินทร์ พยานโจทก์อีกปากว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2535เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนผู้เสียหายที่ 2 มาแจ้งต่อพยานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1จำนวน 3 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่น ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 และนายอนุภาษณ์เข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลย กระสุนปืนก็ลั่นขึ้นถูกศีรษะผู้เสียหายที่ 2 พยานสอบคำให้การแล้วออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสารหมาย จ.10 และออกหมายเรียกจำเลยมาให้การ แต่จำเลยไม่มา พยานจึงออกหมายค้นและไปตรวจค้นบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ไม่พบจำเลยจึงออกหมายจับไว้ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสารหมาย จ.10 ปรากฏว่าที่เกิดเหตุเป็นบ้านชั้นเดียวหน้าบ้านติดถนน อยู่ตรงข้ามโรงภาพยนตร์ล้อมผ้าตุ่นรามาบริเวณส่วนหน้าของบ้านเปิดเป็นร้านขายเครื่องดื่ม มีแคร่จำนวน2 ตัว ด้านหน้าเป็นที่โล่งแสดงว่าภายหลังเกิดเหตุแล้วในวันรุ่งขึ้นซึ่งแทบจะทันทีทันใดกับเหตุเกิดแล้วสด ๆ ผู้เสียหายที่ 2ได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกจำเนียรระบุว่า จำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง หากผู้เสียหายที่ 2 จำจำเลยไม่ได้ก็คงจะไม่ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้เป็นแน่ จึงเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์จำจำเลยได้ ร้อยตำรวจโทกิตติคำภาสัน พยานโจทก์อีกปากเบิกความสนับสนุนว่าพยานเป็นผู้จับกุมจำเลย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2537 เวลาประมาณเที่ยงวันได้รับแจ้งว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีนี้และออกหมายจับไว้แล้วได้รับอุบัติเหตุเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเต่างอย พยานนำหมายจับจำเลยไปที่โรงพยาบาล แจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพ พยานทำบันทึกการจับกุมไว้ ตามเอกสารหมาย จ.7ร้อยตำรวจโทรุ่งโรจน์ กลีบแก้ว เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานสอบสวนต่อจากร้อยตำรวจเอกจำเนียรและได้ร่วมจับกุมจำเลย พยานสอบสวนจำเลยที่โรงพยาบาลแจ้งข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพพยานทำบันทึกคำให้การจำเลยไว้ ตามเอกสารหมาย จ.12ให้ผู้เสียหายทั้งสองและนายอนุภาษณ์ชี้ตัวต่างยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย เห็นว่าพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งความไปตรวจค้นจับกุมและสอบสวนจำเลยล้วนเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีหน้าที่สืบสวนตรวจค้น จับกุมและสอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายได้ปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งกล่าวหา จับกุมและสอบสวนจำเลยร้อยตำรวจโทกิตติและร้อยตำรวจโทรุ่งโรจนต่างเบิกความยืนยันว่าเมื่อแจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพและตามบันทึกคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.12 จำเลยได้ให้การถึงเหตุการณ์นับแต่จำเลยกับพวกออกมาจากบ้านจนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองแล้วหลบหนีไป แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจมิได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญบังคับตามพฤติการณ์พยานหลักฐานโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้จริงที่จำเลยฎีกาว่านางบุญเหลือ งอยภูธร พยานโจทก์ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะได้ยินเสียงแชะ ๆดังมาจากหลังร้านห่างพยานประมาณ 10 เมตร พยานมองไปทราบว่ามีคนยืนอยู่แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร และไม่เห็นจำเลย จำเลยจึงไม่ใช่คนร้ายรายนี้นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของพยานว่าเมื่อเสียงปืนดังขึ้น พยานวิ่งไปหลบที่ต้นไม้ข้างร้านและขณะเกิดเหตุพยานก็ขายของอยู่ พยานคงไม่มีเวลาดูว่ามีใครเข้ามาในร้านบ้างโดยเฉพาะจำเลยเมื่อเข้ามาในร้านถามผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธปืนยิงทันที ก็เป็นธรรมดาที่พยานจะจำไม่ได้ว่าคนร้ายเป็นใครที่จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 17 นาฬิกาจำเลยกลับจากทำไร่ข้าวโพดแล้วช่วยงานทำบุญให้ผู้ตายคือตาของจำเลยแล้วได้อยู่ที่บ้านตลอดไม่ได้ออกไปไหน รุ่งเช้าก็ไปทำไร่ข้าวโพดตามปกติและไม่เคยหลบหนีไปไหน จำเลยไม่ได้กระทำความผิดนั้น พยานจำเลยไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share