แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 และข้อ 47 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 หมายความว่า ลูกจ้างคือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา สามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับการทำงานหรือระเบียบของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้
โจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทจำเลยมีหน้าที่บริหารงานและควบคุมดูแลการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของจำเลย โจทก์ไม่ต้องไปนั่งทำงานประจำดังเช่นพนักงานทั่วไป คงไปประชุมเพียงเดือนละ 1 ครั้ง นอกนั้นจะสั่งการทางโทรศัพท์หรือเรียกพนักงานของจำเลยไปพบที่บริษัทที่โจทก์นั่งทำงานอยู่ โจทก์มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดและไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยแสดงว่าโจทก์ไม่ต้อง ไปทำงานภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินเดือน ค่าเสียหาย เนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๒ และข้อ ๔๗ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ว่า หมายความถึงผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา สามารถออกคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานให้เป็นไปตามข้อบังคับการทำงานหรือระเบียบ ของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างมีสิทธิลงโทษลูกจ้างได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่บริหารงานและควบคุมดูแลการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่ต้องไปนั่งทำงานประจำดังเช่นพนักงานทั่วไป คงไปประชุมเพียงเดือนละ ๑ ครั้ง นอกนั้นจะสั่งการทางโทรศัพท์หรือเรียกพนักงานของจำเลยที่ ๑ ไปพบที่บริษัทสยามกลการ จำกัด ที่โจทก์นั่งทำงานอยู่ โจทก์มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดและไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ ๑ แสดงว่าโจทก์ไม่ต้องไปทำงานภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามแล้วพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.