คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่งหมายความว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่า งานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น
การพิจารณาว่าหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วย
หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
แม้สัญญาจะระบุชื่อสัญญาว่า “หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์”แต่มีข้อความในรายละเอียดกำหนดจำนวนตำราคณิตคิดเลขเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ กำหนดเดือนและปีที่เริ่มจำหน่าย และการคิดเงินค่าลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้ลงนามในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้น จากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่มและกำหนดจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละเล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องซึ่งระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ โจทก์มีเจตนาที่แท้จริงเพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
แม้หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์จะมีการปรับปรุงใหม่โดยโจทก์และนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่และจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ แต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือฉบับเดิมนั่นเอง หนังสือที่ปรับปรุงใหม่จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ปรับปรุงใหม่ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์ออกจำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือประกอบการเรียนการสอนชื่อแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6รวม 6 เล่ม ก่อนปี 2535 โจทก์จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวจำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์ เพื่อนำไปพิมพ์จำหน่ายเพื่อการค้าของจำเลยทั้งสอง โดยมีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองพิมพ์ออกจำหน่ายแต่ละเล่มได้จำนวนเพียงเล่มละ 3,000 เล่ม เท่านั้นแต่สัญญาซื้อขายทำผิดแบบแห่งนิติกรรม จึงเป็นโมฆะ และมีผลใช้ได้เพียงเป็นหลักฐานอนุญาตให้จำเลยทั้งสองใช้สิทธิพิมพ์งานของโจทก์แต่ละเล่มออกจำหน่ายได้จำนวนเพียงเล่มละ 3,000 เล่ม เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองต้องจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 61,200 บาท จำเลยทั้งสองได้พิมพ์หนังสือดังกล่าวออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 เป็นต้นมาแต่จำเลยทั้งสองไม่เคยแจ้งยอดจำหน่ายหนังสือทั้งหมดให้โจทก์ทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ทราบจากสำเนาเอกสารสำคัญแสดงว่าจำเลยทั้งสองพิมพ์เกินกว่าจำนวนเล่มละ 3,000 เล่ม แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงห้ามจำเลยทั้งสองพิมพ์หรือเผยแพร่หนังสือที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไปแต่จำเลยทั้งสองยังฝ่าฝืนด้วยการจำหน่ายหนังสือทั้งหกเล่มต่อมาอีกจนถึงปี2540 การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหาย ค่าตอบแทนร้อยละ 10ของราคาที่ปกหนังสือซึ่งคาดว่าจะขายได้ต่ำสุดในแต่ละเล่มจำนวนเล่มละ10,000 เล่มต่อปี ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 คิดเป็นเงินจำนวนปีละ 204,000บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,224,000 บาท แต่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจนถึงวันฟ้องจำนวนเพียง 1,000,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองยุติการพิมพ์หรือเผยแพร่งานวรรณกรรมของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อต้นปี 2525 โจทก์นำผลงานทางวิชาการคือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาที่ 1 ถึงปีที่ 6 มาให้จำเลยที่ 1พิจารณาในที่สุดโจทก์ก็ตกลงขายผลงานดังกล่าวให้จำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองได้จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยทั้งสองได้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวโดยมีชื่อของโจทก์อยู่ออกจำหน่ายเนื่องจากเป็นหนังสือใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงจำหน่ายได้จำนวนไม่มาก นอกจากนี้โจทก์ได้ส่งผลงานทางวิชาการคณิตศาสตร์เป็นส่วนประกอบในการขอเลื่อนตำแหน่งอาจารย์ 2 ขึ้นเป็นอาจารย์ 3 ต่อมาเมื่อปลายปี 2536 โจทก์ได้ลาออกจากราชการครูแล้วมาเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสองโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนเดือนละ 30,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ติดต่อนายบุญเหลือ พูลทอง ข้าราชการบำนาญระดับ 10 มาร่วมงานกับจำเลยทั้งสองในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ นายบุญเหลือได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงผลงานทางคณิตศาสตร์ดังกล่าวให้ดีขึ้น โจทก์ได้นำผลงานเดิมมาปรับปรุงแก้ไขโดยตลอดแล้วมอบให้จำเลยทั้งสองจัดพิมพ์ออกจำหน่ายติดต่อกันเรื่อยมาด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 2 จึงได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิชาการและบุคลากร โดยโจทก์ต้องช่วยปฏิบัติหน้าอื่นอีกด้วย เช่น การออกเผยแพร่และจำหน่ายหนังสือต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งหนังสือของโจทก์สัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์สมบูรณ์ใช้บังคับได้ โจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองจัดพิมพ์หนังสือทั้งหกเล่มออกจำหน่ายได้โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องแจ้งยอดพิมพ์ให้โจทก์ทราบ งานสร้างสรรค์ของโจทก์เป็นเพียงแบบฝึกหัดให้คิดเลขเร็วหรือเป็นเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้างมีสิทธินำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงาน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือห้ามจำเลยทั้งสองพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ จำเลยที่ 2 ได้โต้แย้งไปว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้สร้างสรรค์งานขึ้น จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวเมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองงดใช้ชื่อโจทก์ที่ปกหนังสือจำเลยทั้งสองก็ได้งดใช้แล้วเพราะได้มอบงานให้อาจารย์ท่านอื่นทำแทนคงมีชื่อของโจทก์เฉพาะงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน 2539 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 489,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองยุติการพิมพ์หรือเผยแพร่หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ของโจทก์อีกต่อไป

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้เขียนหนังสือ “แบบฝึกคณิตคิดเลขเร็ว” สำหรับการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 รวม 6 เล่มเมื่อกลางปี 2534 โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้นเอง เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่าง ๆ ไม่ใช่การเขียนขึ้นในหน้าที่ราชการ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วที่โจทก์เขียนขึ้น 6 เล่มตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 และ จ.8ถึง จ.13 เป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโดยอำนาจแห่งบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 78 งานสร้างสรรค์ที่โจทก์อ้างว่ามีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่บัญญัติว่า “การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิดหรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิดหลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์” หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 และ จ.8 ถึง จ.13 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ จึงเป็นงานอันไม่มีลิขสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ในข้อนี้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 78 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้”

ดังนี้ มาตรา 78 วรรคหนึ่งมีความหมายว่า งานใดเข้าลักษณะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521และยังได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับ ก็คงให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนมาตรา 78 วรรคสองหมายความว่างานใดที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวแต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ก็ให้งานนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แต่ทั้งนี้นับแต่วันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับ ไม่ใช่นับแต่วันที่งานนั้นได้สร้างขึ้น หาได้หมายความว่าการพิจารณาว่างานที่ได้สร้างขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ใช้บังคับดังเช่นหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์มีลิขสิทธิ์หรือไม่จะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ การพิจารณาว่างานดังกล่าวของโจทก์ซึ่งได้สร้างขึ้นเมื่อกลางปี 2534 มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ปรับแก่กรณี แม้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 จะไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลักเกณฑ์นั้นไม่มีอยู่ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนี้ ในการพิจารณาว่างานใดมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 หรือไม่ จึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้นด้วยปรากฏว่าหนังสือของโจทก์เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 และ จ.8ถึง จ.13 เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยหนังสือดังกล่าววางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มทักษะที่ผู้เรียนจะต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ แม่นยำ และรวดเร็วสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว วางพื้นฐานของความรู้ให้มีความต่อเนื่องกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 หนังสือของโจทก์มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้นการที่โจทก์นำตัวเลข รูปภาพสัญลักษณ์ โจทย์ปัญหา และเครื่องหมายต่าง ๆกันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้นถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรม ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าวแล้วหาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนหรือกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงานหรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบหรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 และ จ.8 ถึง จ.13 จึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต่อไปว่า โจทก์ได้ทำสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์เป็นผู้อ้างส่งต่อศาล โดยจำเลยไม่ส่งต้นฉบับต่อศาลและไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการที่คู่ความยอมรับในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ในสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุถึงชื่อสัญญาว่า “หนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์” และมีข้อความในรายละเอียดกำหนดให้จำเลยที่ 1 พิมพ์ตำราคณิตคิดเร็วสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 จำนวนของแต่ละระดับชั้นเล่มละ3,000 เล่ม เริ่มจำหน่ายเดือนมกราคม 2535 และคิดเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในหนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ที่พิมพ์ขึ้นแต่ละเล่มดังนี้ คือ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1เล่มละ 3.50 บาท เป็นเงิน 10,500 บาท ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เล่มละ 3.90บาท เป็นเงิน 11,700 บาท ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เล่มละ 2.80 บาท เป็นเงิน8,400 บาท ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่มละ 3 บาท เป็นเงิน 9,000 บาทชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่มละ 3.30 บาท เป็นเงิน 9,900 บาท และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่มละ 3.90 บาท เป็นเงิน 11,700 บาท เป็นเงินรวมทั้งหมดจำนวน61,200 บาท เอกสารดังกล่าวมิได้มีการลงนามโจทก์ในฐานะผู้ขาย และจำเลยที่ 1ก็มิได้ลงนามในฐานะผู้ซื้อเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงเท่านั้นจากการคิดค่าแห่งลิขสิทธิ์เป็นรายเล่ม และกำหนดให้พิมพ์หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 เพียงเล่มละ 3,000 เล่ม แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายสิทธิในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ตามมาตรา 13(4) และ 14 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมิใช่ข้อตกลงในการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยโจทก์มีเจตนาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแม้โจทก์จะบรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมทั้งหกเล่มของโจทก์และแนบสำเนาสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 มาท้ายคำฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 จะระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาขายลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็เป็นเพียงความเข้าใจคลาดเคลื่อนของโจทก์ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาขายลิขสิทธิ์ ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1เป็นสัญญาขายลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อ แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ 1เป็นการที่โจทก์เพียงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในการทำซ้ำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วเท่านั้นข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ หาใช่สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การที่โจทก์เข้ามาทำงานกับจำเลยที่ 1 ซึ่งในระหว่างนั้นมีการปรับปรุงหนังสือตามเอกสารหมายจ.2 ถึง จ.7 เป็นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 นั้น เป็นการที่โจทก์ได้สร้างสรรค์งานขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อันทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างเป็นผู้มีสิทธินำงานตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้นหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปลายปี 2536 และโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่ในระหว่างที่มีการจัดพิมพ์หนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 ดังนี้เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ในฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์เบิกความว่าหลังจากการพิมพ์หนังสือเมื่อเดือนมกราคม 2535 แล้วจำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่าควรปรับปรุงหน้าปกและราคาหนังสือใหม่ ส่วนเนื้อหายังเหมือนเดิม ต่อมาในปี 2538 โจทก์จึงเห็นหนังสือที่จำเลยทั้งสองปรับปรุงหน้าปกและราคาใหม่ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 ส่วนจำเลยที่ 2เบิกความว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 พิมพ์ขึ้นภายหลังจากที่โจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เนื่องจากหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 ขายไม่ค่อยดี หลังจากนั้นโจทก์และนายวิจิตร เพชรแดงซึ่งเป็นนักวิชาการของจำเลยที่ 1 ก็ได้ร่วมกันปรับปรุงหนังสือตามเอกสารหมายจ.2 ถึง จ.7 ออกมาเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 ในหนังสือใหม่มีข้อแตกต่างจากเดิม 5 ประการ คือ ปกไม่เหมือนเดิม ราคาหนังสือใหม่สูงกว่าคำเฉลยแยกพิมพ์ต่างหาก นายบุญเหลือเขียนคำนิยมให้ และมีการปรับปรุงเนื้อหาไม่มาก คำเบิกความของจำเลยที่ 2 เจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 นั้น มีการปรับปรุงโดยเปลี่ยนรูปแบบปกหนังสือใหม่มีการจัดรูปแบบหนังสือโดยแยกคำเฉลยออกพิมพ์ต่างหาก ส่วนเนื้อหาของหนังสือยังเหมือนเดิม หนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 จึงไม่ใช่เป็นงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือดัดแปลงโดยปรับปรุงงานเดิมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใดแต่เป็นงานสร้างสรรค์หรืองานวรรณกรรมเดียวกันกับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 นั่นเอง ดังนั้น หนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 จึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์คือหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.13 ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยพิมพ์จำหน่ายในฐานะที่เป็นนายจ้างของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 7 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 204,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share