คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เนื้อหาของเอกสารพิพาทเป็นจดหมายที่ผู้ตายแจ้งให้ส. ทราบว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ล. โดยขอให้ส.เป็นพยานคนที่สองด้วยและเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ขอให้ ส. ช่วยดูแลให้ ล.เก็บรักษาทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผู้ตายไว้ให้เด็กชาย บ.ด้วยเท่ากับเป็นการฝากฝังให้ ส. ช่วยดูแลทรัพย์สินตามพินัยกรรมที่ทำไว้แล้วให้แก่เด็กชายบ. ตามเอกสารพิพาทนี้แสดงว่ามีพินัยกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้ ส. ช่วยเป็นพยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่ง ดังนั้น แม้จะฟังว่าผู้ตายเขียนเอกสารพิพาทขึ้นเองทั้งฉบับก็ตามลำพังเอกสารดังกล่าวหาใช่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายไม่เป็นเพียงการแจ้งให้ ส.ทราบว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ ล. และขอให้ ส.ช่วยดูแลด้วยเท่านั้น แม้ผู้ร้องเพิ่งจะอ้างเอกสารที่อ้างว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคดีนี้มาท้ายอุทธรณ์เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังได้ เอกสารพิพาทมีข้อความระบุว่าเป็นใบมอบอำนาจเขียนขึ้นด้วยลายมือผู้ตายเอง แสดงเจตนาขอยกทรัพย์ทุกอย่างที่มีอยู่ให้แก่ ส. ผู้เป็นภริยา และว่า นิติกรรมอันใดที่ ส. กระทำให้ถือว่าผู้ตายได้กระทำเองโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และลงชื่อผู้ตายไว้นั้นเอกสารดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นพินัยกรรม เพราะมิได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย ดังนั้นแม้จะฟังว่าผู้ตายทำเอกสารดังกล่าวขึ้นไว้ก็ตามก็ไม่มีผลเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวถึงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้ผู้คัดค้านที่ 1และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 1ว่ามีบุตรด้วยกัน 2 คน ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในฐานะผู้รับพินัยกรรมหรือในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสอง คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นการขัดกันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงขนาดที่จะพิจารณาคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพียงแต่บรรยายให้ศาลเห็นว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก เพื่อแสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นการเพียงพอแล้วส่วนทรัพย์มรดกและทายาทมีอยู่อย่างไรเป็นขั้นตอนในชั้นจัดการมรดก แม้คำร้องขอระบุทรัพย์มรดกและทายาทของผู้ตายไม่ครบถ้วน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่สุจริตไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิภาต ฉิมมณี ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน1 คน คือ นายสุภาต ฉิมมณี วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533ผู้ตายได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคภาวะตับวายที่โรงพยาบาลพญาไท 1โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ผู้ร้องติดต่อขอจัดการมรดกแต่มีเหตุขัดข้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับพินัยกรรมของนายวิภาค ฉิมมณีผู้ตาย โดยผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนอกจากนี้ผู้ตายยังมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอีก 2 คน คือ นายเบญจ์ ฉิมมณี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนายสัญญา ฉิมมณี และนายบรรณ ฉิมมณีซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนายสานนท์ ฉิมมณี ผู้ตายได้จดทะเบียนรับรองเป็นบุตรถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่8 ตุลาคม 2519 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นมารดาของนายสัญญากับนายสานนท์ซึ่งบุคคลทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสองตามกฎหมาย ผู้ร้องทราบมาโดยตลอดจนถึงวันยื่นคำร้องขอว่านายสัญญาและนายสานนท์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ร้องไม่ได้ระบุชื่อบุคคลทั้งสองในบัญชีเครือญาติของผู้ตายซึ่งเป็นการแสดงเจตนาไม่สุจริตนอกจากนี้ผู้ร้องระบุว่าผู้ตายมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน 3 แปลงนั้น ความจริงผู้ตายและผู้ร้องมีสินสมรสเป็นที่ดินอีก 14 แปลงรวม 17 แปลง โดยมีชื่อผู้ตาย 7 แปลง และชื่อผู้ร้อง10 แปลง ซึ่งผู้ร้องทราบดี แต่ไม่ได้ระบุในบัญชีทรัพย์เนื่องจากผู้ร้องต้องการปิดบังทรัพย์สินมรดกไม่ให้แก่ทายาทอื่นมีเจตนาไม่สุจริตในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 คัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิภาต ฉิมมณี ผู้ตายกับนางขนิษฐาหรือจันทน์โฉม ปันยารชุน ซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2502มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ผู้ร้องมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก และผู้ร้องมีเจตนาที่จะปกปิดทรัพย์มรดกของผู้ตายเนื่องจากบ้านเลขที่ 363/22 เป็นอาคารพาณิชย์ทุกห้องมีชื่อผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่ปรากฏว่าผู้ร้องมิได้ระบุในบัญชีทรัพย์ นอกจากนี้ผู้ตายยังมีที่ดินและบ้านอีกหลายสิบแปลงกับมีเงินในธนาคารพาณิชย์อีกหลายบัญชีซึ่งแต่ละแห่งผู้ร้องทราบดี แต่มิได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์ผู้ร้องไม่สมควรจะเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นางสุคนธ์ ฉิมมณี ผู้ร้อง นางหือนางสาวลัดดา สุนทรนนท์ ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสาวบุษบา ปันยารชุนหรือฉิมมณี ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิภาต ฉิมมณี ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาของนายวิภาต ฉิมมณีผู้ตาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2517มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือนายสุภาต ฉิมมณี ปรากฏตามใบสำคัญการสมรสและสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ร.1และร.2 ผู้ตายมีบุตรกับผู้คัดค้านที่ 1 สองคน คือเด็กชายเบญจ์ ฉิมมณี และเด็กชายบรรณ ฉิมมณีซึ่งผู้ตายได้จดทะเบียนรับรองเด็กทั้งสองเป็นบุตรแล้ว ต่อมาเด็กทั้งสองได้เปลี่ยนชื่อตัวเป็น “สัญญา” และ “สานนท์” ตามลำดับปรากฏตามสูติบัตรทะเบียนการรับรองบุตรและหนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวเอกสารหมาย ค.1 ถึง ค.6 ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 ผู้ตายถึงแก่กรรม ปรากฏตามมรณบัตรเอกสารหมาย ร.4 ผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท และมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อที่ว่าเอกสารหมาย ค.11 เป็นพินัยกรรมของผู้ตายหรือไม่ก่อนเอกสารดังกล่าวมีข้อความดังนี้
“กรุงเทพฯ 3-3-74
สุรินทร์ ที่รัก
ผมทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้คุณลัดดา สุนทรนนท์และให้คุณเป็นพยานที่ 2 ผมใคร่ขอร้องว่าถ้าผมมีอันเป็นไปถึงแก่ชีวิต กรุณาดูแลและบังคับให้คุณลัดดาเก็บรักษาทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผมไว้เพื่อมอบให้ ด.ช.เบญจ์ ฉิมมณี บุตรชายคนเดียวของผมด้วย (บุตรที่อื่นไม่มี แม้จะมีผู้แอบอ้างมาร้องเรียนก็เชื่อไม่ได้)
คุณลัดดา สุนทรนนท์ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินของผมตามอัตภาพในการดำรงชีพเท่านั้น หากปฏิบัติเกินขอบเขตความจำเป็น คุณมีสิทธิทักท้วงได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงของผมซึ่งต้องการเก็บรักษาทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้ให้แก่ ด.ช.เบญจ์ ฉิมมณี แต่ผู้เดียว
รัก
ลายเซ็น
(นายวิภาต ฉิมมณี)”
ศาลฎีกาเห็นว่า โดยเนื้อหาของเอกสารดังกล่าวเป็นจดหมายที่ผู้ตายแจ้งให้นายสุรินทร์ทราบว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้นางลัดดา สุนทรนนท์โดยขอให้นายสุรินทร์เป็นพยานคนที่สองด้วย และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ขอให้นายสุรินทร์ช่วยดูแลให้นางลัดดาเก็บรักษาทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผู้ตายไว้ให้เด็กชายเบญจ์ ฉิมมณี ด้วยเท่ากับเป็นการฝากฝังให้นายสุรินทร์ช่วยดูแลทรัพย์สินตามพินัยกรรมที่ทำไว้แล้วให้แก่เด็กชายเบญจ์ ตามจดหมายนี้แสดงว่ามีพินัยกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้นายสุรินทร์ช่วยเป็นพยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่ง ฉะนั้นแม้จะฟังว่าผู้ตายเขียนเอกสารหมาย ค.11 ขึ้นเองทั้งฉบับก็ตาม ลำพังเอกสารดังกล่าวหาใช่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายไม่ เป็นเพียงการแจ้งให้นายสุรินทร์ทราบว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้นางลัดดาและขอให้นายสุรินทร์ช่วยดูแลด้วยเท่านั้น
ผู้ร้องฎีกาว่า เอกสารแนบท้ายอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ผู้ร้องด้วยนั้นเห็นว่า แม้ผู้ร้องเพิ่งจะอ้างเอกสารดังกล่าวมาท้ายอุทธรณ์เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังได้ เอกสารดังกล่าวมีข้อความดังนี้
“กรุงเทพฯ 14 กันยายน 2532
ใบมอบอำนาจ
ข้าพเจ้า นายวิภาต ฉิมมณี ขอยกทรัพย์สินทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เงินทอง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้ามีอยู่ให้แก่นางสุคนธ์ ฉิมมณี ผู้เป็นภริยาถูกต้องตามกฎหมาย
ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ใบมอบอำนาจนี้ เขียนขึ้นด้วยความสมัครใจด้วยลายมือของข้าพเจ้าเอง
นิติกรรมอันใดที่นางสุคนธ์กระทำให้ถือว่าข้าพเจ้าได้กระทำเองโดยไม่น่ามีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น
ลงชื่อ วิภาต ฉิมมณี ผู้มอบ”
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นพินัยกรรมฉะนั้นแม้จะฟังว่าผู้ตายทำเอกสารดังกล่าวขึ้นไว้ก็ตามก็ไม่มีผลเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย
ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวในคำคัดค้านว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมฐานะหนึ่งและฐานะเป็นมารดาของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอีกฐานะหนึ่ง เป็นการขัดกันในตัวและเป็นปฏิปักษ์ต่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น เห็นว่า ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวถึงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้ผู้คัดค้านที่ 1 และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 1 ว่ามีบุตรด้วยกัน 2 คนขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในฐานะผู้รับพินัยกรรมหรือในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสอง คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นการขัดกันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของผู้คัดค้านที่ 1ถึงขนาดที่จะพิจารณาคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบมาไม่อาจรับฟังว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบเอกสารหมาย ค.12 ถึง ค.15โดยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานและไม่ได้นำส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้อง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 ประกอบเอกสารว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตายกับนางขนิษฐาหรือจันทร์โฉม ปันยารชุนปรากฏตามใบสำคัญการสมรส สำเนาทะเบียนบ้านหนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว และบันทึกการหย่าเอกสารหมาย ค.12 ถึง ค.15 เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ผู้ร้องเพียงแต่แถลงคัดค้านเฉพาะบันทึกการหย่าเอกสารหมาย ค.15 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2533 เพียงฉบับเดียวว่าผู้คัดค้านว่า 2 ไม่ได้ระบุพยานไว้หรือรับฟังไม่ได้เท่านั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวและฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพราะระบุทรัพย์มรดกและทายาทของผู้ตายในคำร้องขอไม่ครบถ้วน เป็นการไม่สุจริตไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เห็นว่าคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพียงแต่บรรยายให้ศาลเห็นว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและมีเหตุขัดข้องในการจุดการทรัพย์มรดกเพื่อแสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นการเพียงพอแล้วส่วนทรัพย์มรดกและทายาทมีอยู่อย่างไรเป็นขั้นตอนในชั้นจัดการมรดก
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์ก็มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share