แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ประกันขอลดค่าปรับและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้ประกัน เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ผู้ประกันไม่อาจจะฎีกาต่อมาอีกได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 66, 76, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 188, 371 โดยศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันประกันตัวจำเลยที่ 3 ไปในระหว่างพิจารณา โดยทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลในวงเงิน 700,000 บาท ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ ผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยที่ 3 ตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญา วันที่ 16 ธันวาคม 2552 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับอีก ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ลดค่าปรับฉบับที่สองลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 โดยอ้างเหตุผลทำนองเดิมซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปตามคำร้องฉบับแรกแล้ว จึงถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งฉบับนี้ พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกัน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยที่ 3 ต่อศาลตามนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันเป็นเงิน 700,000 บาท ต่อมาผู้ประกันขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกัน ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ผู้ประกันจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของผู้ประกันไว้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาผู้ประกัน